ธนาคารกรุงไทยเผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.52 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.52 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.45 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงและแกว่งตัวเหนือโซนแนวรับหลัก 35.50 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในช่วง 35.42-35.68 บาทต่อดอลลาร์) หลังรายงานยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดเล็กน้อย ขณะเดียวกัน รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทค้าปลีกสหรัฐฯ อาทิ Target, TJ Max ก็ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ และแม้ว่า ภาพดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ไปจากช่วงหลังรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI อย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ส่งผลให้ บรรยากาศในตลาดการเงิน อยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ต่อได้ ซึ่งส่งผลให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รีบาวด์ขึ้นบ้าง ขณะเดียวกันก็กดดันให้ ราคาทองคำพลิกกลับมาย่อตัวลงสู่โซนแนวรับระยะสั้น ซึ่งผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำบ้างและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
บรรยากาศตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวมยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หนุนโดยรายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดเล็กน้อย ขณะเดียวกัน บรรดาบริษัทค้าปลีก เช่น Target, TJ Max ต่างก็รายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการที่สภาผู้แทนฯ สหรัฐฯ ได้มีมติผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคร่าว ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ อาจหลีกเลี่ยงภาวะ Government Shutdown ได้หากร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านการเห็นชอบโดยวุฒิสภาได้ทันเวลา อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นแรงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันก่อนหน้า ทำให้ผู้เล่นในตลาดมีการขายทำกำไรออกมาบ้าง ส่งผลให้ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.16%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.42% ท่ามกลางบรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง ตามความหวังว่าบรรดาธนาคารกลางหลักอาจจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว หลังอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนล่าสุด โดยเฉพาะยอดค้าปลีกที่โตดีกว่าคาด ส่งผลให้บรรดาหุ้นธีมการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ต่างปรับตัวขึ้น อาทิ หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม LVMH +1.7%, Hermes +1.1%
ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่ามุมมองของผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว และเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1% ในปีหน้า ทว่าบรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง รวมถึงการปรับสถานะขายทำกำไรของผู้เล่นบางส่วน (โดยเฉพาะฝั่ง Long Bond) ก็ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รีบาวด์ขึ้น สู่ระดับ 4.53% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจมีโอกาสผันผวนสูงขึ้นได้บ้าง จนกว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะส่งสัญญาณย้ำการชะลอตัวลงที่ชัดเจนของเศรษฐกิจมากขึ้น และทำให้ผู้เล่นในตลาดคาดการณ์ “Faster & Deeper rate cuts” จากเฟด ดังนั้น เรายังคงแนะนำให้ รอจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ในการทยอยเข้าซื้อเหมือนเดิม
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้อานิสงส์จากการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ตามส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับญี่ปุ่นที่กว้างขึ้น ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 104.4 จุด (กรอบ 104-104.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แรงขายทำกำไรทองคำ รวมถึงการปรับตัวขึ้นของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยง ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ย่อตัวลง กลับสู่โซนแนวรับ (ที่เคยเป็นแนวต้านก่อนหน้า) แถว 1,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง โดยเรามองว่า การย่อตัวลงดังกล่าวของทองคำ อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อ เพื่อเก็งกำไรการรีบาวด์ได้บ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าว ก็อาจมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจอาจอยู่ที่ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ หลังจากที่ในช่วงระยะหลังนี้ ยอดดังกล่าว โดยเฉพาะ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Claims) ได้ปรับตัวสูงขึ้นและออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนภาพการจ้างงานที่ชะลอตัวลงมากขึ้น
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) พร้อมกับรอติดตามประเด็นการเมืองสหรัฐฯ ว่าสภาคองเกรสจะสามารถผ่านร่างกฎหมายงบประมาณเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะ Government Shutdown ได้หรือไม่ หลังร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว สามารถผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนฯ ได้ พร้อมกันนี้ ผู้เล่นในตลาดก็จะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทค้าปลีก อาทิ Walmart, Macy’s, GAP ซึ่งจะช่วยสะท้อนภาพการใช้จ่ายในฝั่งสหรัฐฯ ได้เพิ่มเติมจากรายงานผลประกอบการของบริษัทค้าปลีกก่อนหน้า
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideway ใกล้โซนแนวรับหลัก 35.50 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา โดยในระหว่างวัน ควรระวังความผันผวนจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งมีโอกาสหาจังหวะทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์แรงของหุ้นไทยได้บ้าง ขณะที่ฟันด์โฟลว์ในฝั่งตลาดบอนด์ อาจยังพอมีโอกาสได้ลุ้นว่า นักลงทุนต่างชาติยังเดินหน้าซื้อบอนด์ไทยต่อได้บ้าง นอกจากนี้ ทิศทางราคาทองคำก็เป็นอีกปัจจัยที่อาจกระทบต่อเงินบาทได้เช่นกัน โดยในกรณีที่ ราคาทองคำ สามารถรีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับ 1,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับแนวต้านระยะสั้นใกล้ 1,980 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ผู้เล่นในตลาดก็อาจทยอยขายทำกำไรได้ ในทางกลับกัน หากราคาทองคำย่อตัวลงต่อเนื่องหลุดโซนแนวรับดังกล่าว และย่อตัวลงใกล้ระดับ 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจเห็นแรงซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวกลับมาอีกครั้ง กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้บ้าง
ทั้งนี้ หากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนแนวรับหลัก 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ เราประเมินว่า โซนแนวรับถัดไป อาจอยู่ในช่วง 35.30 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลง เราประเมินว่า เงินบาทก็อาจติดโซนแนวต้านแถว 35.80 บาทต่อดอลลาร์
ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.45-35.70 บาท/ดอลลาร์