เลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่รับฟังปัญหาการเบิกจ่ายเงิน รพ.หลังสวน จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมให้คำแนะนำ-ร่วมแก้ปัญหา เพื่อให้เบิกเงินจาก สปสช. ให้เต็มที่ ย้ำพร้อมไปทุก รพ. เพื่อช่วยแก้ปัญหาเบิกจ่าย ด้าน ผอ.รพ.หลังสวนเบาใจ เผยที่ผ่านมาอาจไม่เข้าใจระบบการเบิกจ่าย ทำให้เบิกเงินได้ไม่ครบ
เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.พินิจ กลุละวณิชย์ ประธานมูลนิธิราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ สปสช. เขต 11 ร่วมกันลงพื้นที่ไปยัง อ.หลังสวน จ.ชุมพร เพื่อร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยบริการ โรงพยาบาล และประชาชนผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ซึ่งเป็นแนวทางการขับเคลื่อนตามนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาท ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมี นพ.ศักดิ์สิทธิ์ มหารัตนวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหลังสวน พร้อมด้วยตัวแทน บุคลากรทางการแพทย์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชุมพร (สสจ.ชุมพร) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ ให้ข้อมูล
ทั้งนี้ การประชุมระหว่าง สปสช. และหน่วยบริการในพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นการรับฟังแนวทางการดำเนินงานของหน่วยบริการ โรงพยาบาล ที่จะมุ่งมาที่แนวทางการเบิกจ่ายเงินชดเชย รวมถึงปัญหา และอุปสรรคต่างๆ ในการให้บริการสุขภาพประชาชน ตลอดจนข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อให้การดำเนินการดูแลสุขภาพร่วมกันระหว่างหน่วยงานมีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น
นพ.ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลหลังสวนเป็นโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง แต่ให้บริการเตียงจริง 178 เตียง ซี่งให้บริการดูแลสุขภาพประชาชน อ.หลังสวน และยังทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายให้กับอีก 5 อำเภอตอนใต้ของ จ.ชุมพร ทำให้มีประชาชนจากต่างอำเภอเข้ามารับบริการจำนวนมาก รวมแล้วโรงพยาบาลหลังสวนต้องดูแลประชากรโดยรอบประมาณ 200,000 คน
อีกทั้งยังเป็นโรงพยาบาลที่รับส่งต่อผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่ต้องรักษาต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคไต ซึ่งจากประเด็นที่ประชาชนมารับบริการจำนวนมากนี้ ทำให้มีปัญหาในการเบิกจ่ายเงินชดเชยค่าบริการ เพราะจำนวนรายได้จากค่าเหมาจ่ายรายหัวไม่สมดุลกับค่าใช้จ่าย
นพ.ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าคลินิกเอกชนบางแห่งที่ให้บริการฟอกไต จะผลักภาระการตรวจแล็บประจำปีของผู้ป่วยมาให้กับโรงพยาบาล ทั้งที่มีการเหมาจ่ายค่าบริการไปให้กับคลินิกแล้ว ทำให้โรงพยาบาลต้องมารับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แทน รวมถึงยังมีประเด็นการทำ CT scan ให้กับผู้ป่วยอุบัติเหตุ ก่อนส่งต่อไปยังโรงพยาบาลชุมพร ที่ต้องให้ทำ CT scan ทุกครั้งก่อนส่งตัว ซึ่งโรงพยาบาลหลังสวนไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้เช่นกัน จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้มีค่าใช้จ่ายติดลบประมาณ 2-3 ล้านบาททุกเดือน และไม่มีรายได้ในการนำไปลงทุนเพิ่มศักยภาพให้กับโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ประชุมหารือกับ สปสช. ในครั้งนี้ ก็ได้รับคำแนะนำเรื่องการเบิกจ่าย และคลายกังวลไปได้อย่างมาก ซึ่ง สปสช. มีนโยบายที่สนันสนุนโรงพยาบาลชุมชนอยู่แล้ว แต่เป็นโรงพยาบาลเองที่ยังอาจไม่เข้าใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ รวมถึงขั้นตอนการเบิกจ่าย ทำให้ไม่สามารถใช้เงินจาก สปสช. ได้อย่างเต็มที่ แต่จากนี้ทิศทางจะดีขึ้น
“แม้ที่ผ่านมาจะประสบปัญหางบประมาณ แต่เราเอาบริการสุขภาพนำหน้าเรื่องเงินไว้ก่อน ซึ่งหลังจากได้รับคำแนะนำแล้วก็เห็นถึงแนวทางใช้เงินจาก สปสช. มากขึ้น และจะเป็นรายได้สำคัญของโรงพยาบาล ที่จะใช้ลงทุนด้านสุขภาพกับประชาชนในพื้นที่ต่อไป” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหลังสวน กล่าว
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี กล่าวว่า โรงพยาบาลหลังสวนมีการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ค่อนข้างดี ทั้งเรื่องยา และค่าจ้างบุคลากรทางการแพทย์ แต่พบว่ายังเบิกค่าบริการจาก สปสช. ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงมาพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถใช้เงินจาก สปสช. ให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ หลังจากได้พูดคุยกับผู้บริหารโรงพยาบาลหลังสวน ก็มีความเข้าใจกันมากขึ้นเกี่ยวกับระบบการเบิกจ่ายค่าบริการกับ สปสช. ซึ่งพบว่ายังมีจุดบกพร่องของระบบ รวมถึงต้องมีการตรวจสอบและแก้ไขอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันถึงแนวทางการทำให้โรงพยาบาลมีรายได้ โดยเฉพาะการบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค (P&P) และคัดกรองสุขภาพ ที่จะช่วยทำให้มีเงินค่าบริการที่เบิกได้จาก สปสช. มากขึ้น
“หากโรงพยาบาลให้บริการอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ที่ทำมากขึ้น ครอบคลุมขึ้น สปสช.ก็พร้อมจะจ่ายให้มากขึ้นเช่นกัน ผมเชื่อว่าโรงพยาบาลทำได้ดีแล้ว แต่ยังเบิกเงินได้ไม่ครบ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า หากโรงพยาบาลไหนที่มีปัญหาในเรื่องการเบิกจ่าย และต้องการคำแนะนำจาก สปสช. เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา สปสช. ยินดีอย่างมากที่จะไปช่วย ซึ่งไม่ใช่เป็นการติดตามการทำงาน หรือไปตรวจสอบ แต่เป็นการพูดคุยระหว่างกัน ให้กำลังใจกัน เพื่อเป้าหมายคือการให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้โรงพยาบาลเบิกจ่ายงบประมาณจาก สปสช. ได้อย่างเต็มที่
15 พฤศจิกายน 2566
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
- ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
- Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
- ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิก https://lin.ee/nwxfnHw