ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (U of Michigan Consumer Sentiment) ในเดือนพฤศจิกายน โดยประเด็นสำคัญ อาจอยู่ที่มุมมองของผู้บริโภคต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อระยะสั้น และระยะยาว ว่าจะมีการปรับตัวขึ้นต่อ หรือ ปรับตัวลดลง ซึ่งอาจมีผลต่อการตัดสินใจของเฟดต่อการดำเนินนโยบายการเงินได้บ้าง
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.82 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.59 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 35.50-35.84 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดได้สะท้อนว่า เฟดยังมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ หากเฟดกังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อและไม่มั่นใจว่าจะคุมเงินเฟ้อได้สำเร็จ
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญแรงกดดันจากถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ยังคงส่งสัญญาณว่า เฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ จนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าสามารถคุมเงินเฟ้อได้สำเร็จ โดยภาพดังกล่าว กอปรกับผลการประมูลบอนด์สหรัฐฯ ที่ออกมาน่าผิดหวัง ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.65% ส่งผลให้ บรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวลดลง ทำให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.81%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นต่อ +0.84% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในระยะนี้ที่ออกมาดีกว่าคาดบ้าง อาทิ Adyen +38%, Astrazeneca +2.6% นอกจากนี้ บรรดา หุ้นสไตล์ Growth และ หุ้นกลุ่มเทคฯ ยังปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง ก่อนที่ตลาดจะรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด
ในฝั่งตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของประธานเฟดที่สะท้อนว่า เฟดยังมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ จนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าสามารถคุมเงินเฟ้อได้สำเร็จ รวมถึงผลการประมูลบอนด์ 30 ปี สหรัฐฯ ที่ออกมาน่าผิดหวัง ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.65% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์อาจปรับตัวขึ้นได้บ้าง ซึ่งต้องรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เราคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรอาศัยจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนหนัก โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง จากรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานที่ออกมาแย่กว่าคาด ทว่าเงินดอลลาร์ก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นตามถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ย้ำว่า เฟดยังมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 105.9 จุด (กรอบ 105.3-106 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ บรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ และจังหวะการอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ในช่วงรับรู้รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานสหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถรีบาวด์ขึ้น กลับสู่โซน 1,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำก็ถูกจำกัดไว้ โดยถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ยังส่งสัญญาณว่า เฟดพร้อมปรับขึ้นดอกเบี้ย หากจำเป็น
สำหรับวันนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจอังกฤษ (GDP Growth) ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยหากเศรษฐกิจอังกฤษ หดตัวลงมากขึ้นราว -0.1% จากไตรมาสก่อนหน้า ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หรือ แย่กว่านั้น ก็อาจเป็นปัจจัยที่กดดันแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ และอาจส่งผลให้เงินปอนด์อังกฤษเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าลงได้บ้าง
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (U of Michigan Consumer Sentiment) ในเดือนพฤศจิกายน โดยประเด็นสำคัญ อาจอยู่ที่มุมมองของผู้บริโภคต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อระยะสั้น และระยะยาว ว่าจะมีการปรับตัวขึ้นต่อ หรือ ปรับตัวลดลง ซึ่งอาจมีผลต่อการตัดสินใจของเฟดต่อการดำเนินนโยบายการเงินได้บ้าง
และอีกไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้งเฟด และ ECB โดยผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น ถ้อยแถลงดังกล่าว เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของทั้ง เฟด และ ECB
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ส่งสัญญาณว่า เฟดยังมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อ หากจำเป็น เพื่อคุมเงินเฟ้อให้สำเร็จ ซึ่งส่งผลให้ เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นชัดเจน (แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจออกมาแย่กว่าคาดบ้างก็ตาม) ดังนั้น หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในคืนนี้ (ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งจะรับรู้ในช่วงราว 22.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจยังคงหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้ ทั้งนี้ เรามองว่า การเคลื่อนไหวของราคาทองคำที่ยังฝืนแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดที่เข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับฐานก่อนหน้า เริ่มทยอยขายทำกำไรมากขึ้น และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าว ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง
อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจเผชิญความผันผวนและแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติมได้ หากนักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม โดยเฉพาะในฝั่งหุ้น ที่ยังไม่เห็นการกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ฝั่งบอนด์ ก็มีความเสี่ยงที่นักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายบอนด์ได้บ้าง หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เริ่มมีการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้
ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงินและสถานการณ์สงคราม ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.60-35.90 บาท/ดอลลาร์
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย