เลขาธิการ สปสช. เผยทิศทางการใช้ข้อมูลสุขภาพในอนาคต เน้นพัฒนาให้ทุกกระบวนการเป็นอัตโนมัติทั้งการใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับบริการ การขึ้นทะเบียน ไปจนถึงการเบิกจ่ายเงินแก่หน่วยบริการ พร้อมประกาศยินดีเชื่อมต่อข้อมูลกับทุกหน่วยงานเพื่อร่วมขับเคลื่อนระบบสุขภาพในอนาคต
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานประชุมวิชาการประกันสังคม ปี 2566 เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา ในหัวข้อ การประยุกต์ใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนางานบริการภาครัฐที่เป็นเลิศ โดยระบุว่า ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานอย่างมาก การขับเคลื่อนนโยบายต้องใช้ข้อมูล ในระหว่างการดำเนินงานก็ต้องใช้ข้อมูล การจะทำให้องค์กรยั่งยืนก็ควรใช้ข้อมูลในการทำงานด้วย สปสช. ได้ปรับโครงสร้างภายในให้มีหน่วยสำหรับใช้งานข้อมูล เรียกว่าหน่วย Monitor and Evaluation หรือการกำกับติดตามและประเมินผลตั้งแต่ระดับส่วนกลางไปถึงระดับเขต เพราะในยุคต่อไปถ้าไม่มีการใช้ข้อมูล ความสามารถในการแข่งขันจะลดลงอย่างมากมาก
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ในการนำข้อมูลมาใช้ ช่วงโควิด-19 สปสช. มีบทเรียนอย่างหนึ่งว่านอกจากข้อมูลเชิงปริมาณแล้ว ข้อมูลเชิงคุณภาพจะช่วยทำให้เข้าใจความคิดของกลุ่มเป้าหมายที่กำลังดูแลอยู่ เช่น คิดว่าจะแจก ATK ให้ประชาชนมารับ แต่ความคิดเห็นของประชาชนคือไม่มารับแน่เพราะเสียเวลาทำงานหาเงิน ดังนั้น ก่อนจะใช้ข้อมูลต้องศึกษาพฤติกรรมของประชาชนกลุ่มเป้าหมายก่อน
อีกประการคือเวลาใช้ข้อมูลในการทำงาน อย่าดูแค่ข้อมูลในอดีตที่ผ่านมาเพราะไม่บอกถึงข้อมูลในอนาคต แต่ให้ดูทฤษฎีต่างๆ ว่าข้อมูลกำลังบ่งบอกถึงอะไร เช่น มีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ประโยชน์จากการใช้สิทธิบัตรทองในการรักษาพยาบาล เช่น ไม่อยากมาโรงพยาบาลเพราะรู้สึกยุ่งยากวุ่นวาย และทฤษฎีบอกว่าต้องดูแลให้คนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น สปสช. จึงหาวิธีให้จัดบริการให้คนกลุ่มนี้ได้ใช้ประโยชน์บ้าง เช่น ให้ไปที่ร้านยาหรือคลินิกใกล้บ้าน ทำเทเลเมดิซีน หรือการตรวจแล็บใกล้บ้าน เป็นต้น
ในส่วนของข้อมูลเชิงปริมาณ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ทั้ง สปสช. และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีข้อมูลมหาศาล ความท้าทายอยู่ที่จะใช้ข้อมูลในการทำงานอย่างไร อย่างเช่น สปสช. มีผู้ไปรับบริการปีละ 162 ล้านครั้ง มีการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการปีละ 190 ล้านครั้ง มีการรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคปีละ 243 ล้านครั้ง ผู้ป่วยใน 7 ล้านครั้ง มีการโทรเข้า Call center อีกปีละ 2 ล้านสาย/ปี ข้อมูลเหล่านี้จะเอามาช่วยวางแผนหรือประเมินว่านโยบายที่กำหนดออกไปดีหรือไม่ดีอย่างไร เช่น เอามาจัดทำงบประมาณ ซึ่งต้องเอาข้อมูลมาคำนวนว่าในปีต่อไปจะมีผู้ได้รับบริการเท่าใดและต้องใช้งบประมาณเท่าใด
นอกจากนี้ ยังนำมาวิเคราะห์ข้อมูลการเจ็บป่วยของประชาชน ถ้ามีผู้มารับบริการมากสะท้อนว่าเจ็บป่วยมากเกินไป แต่ถ้ามาใช้บริการน้อยก็อาจสะท้อนว่าประชาชนยังเข้าไม่ถึงบริการ อย่างในพื้นที่ กทม. อัตราการใช้บริการต่ำกว่าต่างจังหวัด 50% เพราะลำบากในการเข้ารับบริการ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน สปสช. ยังใช้ข้อมูลในการติดตามโรคสำคัญๆที่เป็นปัญหาสาธารณสุข เช่น โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคไต ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ฯลฯ ซึ่งข้อมูลจะบอกว่าควรกำหนดนโยบายไปในทิศทางไหน ต้องมีมาตรการอะไรเพิ่มเติม จะเพิ่มการใช้งานเครื่องล้างไตอัตโนมัติในกลุ่มที่ต้องทำงานในเวลากลางวันหรือไม่ การติดตามดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หรือจะต้องเพิ่มทักษะใหม่ (Up skill/Re-skill) ในกลุ่ม Care giver หรือผู้ช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยอย่างไรเพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง เป็นต้น ขณะเดียวกัน นอกจากการใช้ข้อมูลเพื่อการดำเนินงานแล้ว การติดตามข้อมูลความพึงพอใจอย่างต่อเนื่องก็เป็นสิ่งสำคัญในการรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนและนำไปปรับปรุงนโยบายหรือบริการต่อไปในอนาคต
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน สปสช. มีนโยบายคืนข้อมูลแก่ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ โดยทุกภาคส่วนสามารถเข้าไปดูใน Dashboard เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ และทิศทางการออกแบบระบบข้อมูลกำลังเปลี่ยนไป ต่อไป สปสช. จะพยายามไม่สร้างข้อมูลเองหรือขอข้อมูลจำนวนมากจากหน่วยบริการ แต่จะเชื่อมต่อข้อมูลกับทุกคนและใช้ข้อมูลเท่าที่จำเป็นเพื่อการเบิกจ่ายเงินชดเชยค่าบริการ เช่น การขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทอง ปัจจุบันเป็น One stop service ไม่จำเป็นต้องหอบเอกสารมา สปสช. ได้เชื่อมข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสามารถดึงข้อมูลมาใช้ประกอบการพิจารณาขึ้นทะเบียนได้เลยทันที หรือ การเบิกจ่ายเงิน ก็พยายามลดจำนวนวันจากเดิม 1 เดือน เป็น 15 วันในปัจจุบัน และในอนาคตจะพยายามลดให้เหลือ 3 วัน/ครั้ง และที่ดีที่สุดคือวันต่อวัน
“ในอนาคต สปสช. จะพยายามทำทุกอย่างให้เป็นอัตโนมัติ เช่น เลิกให้โรงพยาบาลส่งข้อมูลมาเบิกจ่าย แต่จะไปดึงข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขที่มีการบูรณาการไว้แล้วมาใช้เบิกจ่าย ประชาชนแค่ใช้บัตรประชาชนใบเดียวในการรับบริการได้ทุกที่ โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลในระบบหลังบ้าน ขณะเดียวกันก็ยินดีเชื่อมต่อข้อมูลกับทุกๆหน่วยงานในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพในอนาคต”นพ.จเด็จ กล่าว