กลุ่มธุรกิจ TCP จัดงานประชุมด้านความยั่งยืน รวมพลังลงมือปฏิบัติเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero
กลุ่มธุรกิจ TCP จัดงานประชุมด้านความยั่งยืนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้แนวคิด “Net Zero Transition...From Commitment to Action” หรือ “การเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero จากพันธสัญญาสู่การปฏิบัติ” ปลุกพลังอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เร่งลงมือหนุนประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero เพื่อวันที่ดีกว่า
สัญญาณเตือนและทิศทางระดับประเทศ
ปัจจุบัน ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศอันดับที่ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลกที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น ทั้งภาคอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว เกษตรกรรม และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จึงมีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ นอกจากนี้ ยังมีกฎระเบียบทางการค้าใหม่ๆ ระดับโลกที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นอีกบททดสอบหนึ่งสำหรับภาคธุรกิจ เปลี่ยนจากการดำเนินการโดยสมัครใจไปสู่ข้อกำหนดที่เป็นทางการร่วมกัน
ทั้งนี้ รายงานล่าสุดของธนาคารโลก (2022) แนะนำทางออกให้ไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจหรือ GDP เติบโตขึ้น 1.2% จากปีฐาน หรือเพิ่มขึ้น 0.1-0.2% ต่อปีภายในปี 2030 และมีโอกาสสร้างงานได้ถึง 160,000 ตำแหน่ง
“คำถามที่เป็นหัวใจหลักของการประชุม TCP Sustainability Forum ในปีนี้คือ ไทยจะเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero และรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตได้อย่างไร” นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP เผยถึงที่มาและความตั้งใจในการจัดงาน
เร่งระดมพลังอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
แนวคิดหลักของการประชุมด้านความยั่งยืน TCP Sustainability Forum 2023 จึงเป็นเรื่องของ “การเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero จากพันธสัญญาสู่การปฏิบัติ” ที่เน้นความสำคัญของการลงมือปฏิบัติในแต่ละภาคส่วน ทั้งนักธุรกิจ นักคิด และนักปฏิบัติ ที่มาร่วมระดมสมองและแบ่งปันข้อมูลและแนวทางปฏิบัติที่เป็นประโยชน์กับการพัฒนานวัตกรรม กลยุทธ์ ตลอดจนแผนงานการดำเนินธุรกิจเพื่อการเปลี่ยนผ่าน
ดร.วิรไท สันติประภพ ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “การทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในปัจจุบันต้องไม่มองแบบการทำ CSR ที่เราคุ้นเคยในอดีต เรื่องความยั่งยืนเป็นเรื่องกลยุทธ์ของธุรกิจ ต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจให้เท่าทันกับความท้าทายและความคาดหวังของสังคม ไม่เบียดเบียนสังคม และสร้างปัญหาให้กับคนรุ่นต่อไป ธุรกิจใดที่ทำเรื่องความยั่งยืนได้เป็นรูปธรรม จะเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้เหนือคู่แข่งแบบ “ธุรกิจชนะและสังคมวัฒนา” ไปพร้อมกัน ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจที่ไม่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง จะเปิดความเสี่ยงทางธุรกิจหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ หรือความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ”
กลุ่มธุรกิจ TCP พร้อมเดินทางสู่เป้าหมาย Net Zero ร่วมกัน
“สำหรับกลุ่มธุรกิจ TCP โจทย์ของเราไม่ได้มองการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero เท่านั้น แต่ต้องการรวมพลังภาคส่วนต่างๆ เปลี่ยนพันธสัญญาไปให้ถึงการ “ลงมือปฏิบัติ” เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง มากกว่านั้นคือการสร้าง “อัตราเร่ง” โดยจากนี้ต้องมีความชัดเจนในการเดินทางไปสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ รวมถึงประเทศไทยที่ประกาศเป้าหมาย Net Zero ในปี 2065” นายสราวุฒิกล่าวและเสริมว่า “กลุ่มธุรกิจ TCP มีวิสัยทัศน์ในการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero สำหรับธุรกิจ คือ การเปลี่ยน mindset เปลี่ยนวิธีทำธุรกิจ “เป็นตัวเราที่ดีกว่าเดิม” เราไม่ได้แข่งกับคนอื่นแต่เป็นการแข่งกับตัวเอง เราพยายามมองหาจุดร่วมระหว่างสิ่งที่จะต้องเปลี่ยนและตัวเราว่าจะพาตัวเองไปในทิศทางไหน โจทย์คือทำอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตไปได้ ควบคู่กับการลดผลกระทบเชิงลบและเพิ่มผลกระทบเชิงบวกให้กับสิ่งแวดล้อมและสังคม ภายใต้เป้าหมายใหญ่ “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า” โดยมีเป้าหมายย่อยและแผนงานรองรับ รวมถึงประเมินผลการทำงานและปรับทิศการทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อการเปลี่ยนผ่าน”
กลุ่มธุรกิจ TCP เดินหน้า “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า” ให้ความสำคัญกับการปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม (Caring) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลัก โดยได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ได้แก่
- เศรษฐกิจหมุนเวียน: ภายในปี 2024 ตั้งเป้าพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถรีไซเคิลได้ 100% และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการลดความหนาของกระป๋องอะลูมิเนียม การลดน้ำหนักบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วและขวดพลาสติกเพื่อลดการใช้ทรัพยากร
- ความเป็นกลางทางคาร์บอน: ตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 จากทุกกระบวนการทำงานในธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ
- การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน: ตั้งเป้าลดการใช้ทรัพยากรน้ำ และคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติและชุมชนให้มากกว่าน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิต (Net Water Positive) ภายในปี 2030
การประชุม TCP Sustainability Forum 2023 แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1. การเปลี่ยนผ่านด้านความยั่งยืนของประเทศไทย: ปาฐกถาพิเศษ โดย ดร.วิรไท สันติประภพ ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปูภาพรวมสถานการณ์และเตรียมพร้อมรับมือในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ Net Zero ทั้งระดับนโยบาย และการปรับตัวของภาคธุรกิจและประชาชน
2. มุมมองเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์และการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม (Climate Positive): วงเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองต่อเศรษฐกิจหมุนเวียน แนวทางการปรับตัวขององค์กร และภาคธุรกิจจะช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านได้อย่างไร จากนายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP, นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มมิตรผล และนายธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC
พร้อมด้วยปาฐกถามองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กฎระเบียบการค้า และภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ โดย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้า
นักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)
3. ความท้าทายในการขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม (Climate Positive) ในประเทศไทย: เท่าทันความท้าทายต่างๆ ที่จะต้องเผชิญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย จากผู้เชี่ยวชาญ 2 ท่าน ได้แก่
- ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Impact) โดย ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว อัปเดต 3 วิกฤตหลักที่โลกกำลังเผชิญ เรียนรู้แบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สร้างผลกระทบต่อประเทศไทย และรับฟังแนวทางที่ประเทศไทยจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับสถานการณ์น้ำในประเทศไทย โดย ผศ. ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า หัวหน้าศูนย์เฝ้าระวังอุทกภัยเพื่อนพึ่งภาฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองอนาคตของสถานการณ์น้ำ เอลนีโญและผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมรับฟังแนวการบริหารจัดการน้ำและแนวทางการปรับตัวรับมือความเสี่ยง สำหรับภาคเอกชน
ปิดท้ายด้วย วงเสวนาเรื่อง ความท้าทายในการขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม (Climate Positive) ในประเทศไทย อภิปรายถึงสถานการณ์เศรษฐกิจหมุนเวียน โอกาสและอุปสรรคสำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน แลกเปลี่ยนเรื่องกลไกคาร์บอนเครดิต โมเดลนำร่องเศรษฐกิจหมุนเวียน และบทเรียนจากพื้นที่ที่ใช้คาร์บอนเครดิตในงานพัฒนา โดย ดร.ธนพงศ์ ดวงมณี ผู้อำนวยการด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์, ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนางสาวสุปราณี กำปงซัน หัวหน้าแผนงานประเทศไทย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)
“เชื่อว่างาน TCP Sustainability Forum 2023 จะปลุกพลังและเป็นแรงบันดาลใจในการลงมือทำ เพื่อให้เป้าหมายความยั่งยืนที่เรามีร่วมกันนั้นเป็นไปได้ และทันต่อการรับมือความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก มาเริ่มกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อวันที่ดีกว่าไปด้วยกัน” นายสราวุฒิกล่าวทิ้งท้าย