แม้ว่าสถานการณ์การผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณในปีนี้ จะดีขึ้นกว่าในปี 2565 เพราะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่อง จนในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สามารถผลิตได้ในปริมาณ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้การติดตั้งแท่นผลิตปิโตรเลียมต้องเลื่อนออกไป ซึ่งส่งผลให้แผนการเพิ่มอัตราการผลิตต้องล่าช้าออกไป
เชื่อว่าหลายๆ คน ยังจำโมเม้นท์ตอนมองดูใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าในปี 2565 ได้ ซึ่งช่วงนั้นค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นเกือบเท่าตัว หรือมากกว่าเท่าตัว ซึ่งในปีที่ผ่านมา อัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศไทยลดลงกว่าเดิมมาก เพราะช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ (แปลง G1/61) ไม่สามารถผลิตก๊าซในปริมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามสัญญาได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการเปลี่ยนบริษัทผู้รับสัมปทานรายเดิม กับบริษัทรายใหม่ผู้สัญญาแบ่งปันผลผลิต แม้จะมีการแก้ไขสถานการณ์ด้วยการให้แหล่งก๊าซบงกช (แปลง G2/61) เพิ่มกำลังการผลิตก๊าซเพื่อชดเชยส่วนที่หายไป รวมทั้งจัดหาก๊าซจากแหล่งอื่นมาเพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศในขณะนั้น จึงเป็นเหตุให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูงมาก เพราะเกิดวิกฤติพลังงานโลกจากผลกระทบของสงครามรัสเซียกับยูเครน
แม้ว่าสถานการณ์การผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณในปีนี้ จะดีขึ้นกว่าในปี 2565 เพราะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่อง จนในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สามารถผลิตได้ในปริมาณ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้การติดตั้งแท่นผลิตปิโตรเลียมต้องเลื่อนออกไป ซึ่งส่งผลให้แผนการเพิ่มอัตราการผลิตต้องล่าช้าออกไป และทำให้แหล่งก๊าซเอราวัณไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตจากปัจจุบันที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ไปเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนธันวาคม 2566 ตามแผนที่บริษัทฯ แจ้งไว้
ร้อนถึงรัฐบาลใหม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ ตลอดจนว่าที่ปลัดกระทรวงพลังงานคนใหม่ และหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ต้องหาทางเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซอื่นๆ เพื่อทดแทนอัตราการผลิตที่ไม่สามารถเพิ่มขึ้นของแหล่งเอราวัณ โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้มุ่งมั่นอย่างเต็มกำลังความสามารถในการบริหารจัดการสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งประสานผู้ดำเนินงานแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชให้เพิ่มกำลังการผลิตอีก 130 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซจากแหล่งอาทิตย์อีก 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งเมื่อรวมกันก็จะได้ปริมาณก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นใกล้เคียง 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันที่แหล่งเอราวัณยังไม่สามารถผลิตเพิ่มได้
นอกจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังได้ประสานงานกับแหล่งก๊าซยาดานา ในประเทศเมียนมา ให้รักษากำลังผลิตให้นานที่สุด และเลื่อนแผนลดกำลังการผลิตออกไปก่อน รวมทั้งประสานงานการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่พัฒนาร่วมระหว่างไทยกับมาเลเซีย หรือ โครงการเจดีเอ เพื่อขอใช้ก๊าซในช่วงที่มาเลเซียมีความต้องการใช้ไม่มาก เพื่อให้ประเทศไทยมีปริมาณก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น
สถานการณ์ของแหล่งเอราวัณน่าจะมีความชัดเจนภายในปี 2567 โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ก็จะมีการบริหารจัดการ ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นๆ เข้ามาช่วยชดเชยก๊าซที่ยังไม่สามารถผลิตเพิ่มเติมได้ และหากโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ 3 แปลงใหม่ในอ่าวไทย ซึ่งได้ผู้ชนะการประมูลเพื่อดำเนินงานแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการวางแผนการสำรวจอยู่ สามารถดำเนินการได้ตามแผน รวมทั้งหากกระทรวงพลังงานมีการพิจารณาเกี่ยวกับการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่เพิ่มอีก ก็จะมีส่วนช่วยเพิ่มสัดส่วนการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศ ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว และบรรเทาผลกระทบด้านค่าไฟฟ้าแก่ประชาชนได้
ในการประกอบกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทุกโครงการในประเทศไทย ไม่ว่าจะในรูปแบบสัมปทาน หรือสัญญาแบ่งปันผลผลิต ผู้ประกอบการด้านปิโตรเลียมทุกรายควรคำนึงถึงและให้ความสำคัญมากขึ้น เกี่ยวกับภาระผูกพันจากธุรกิจผลิตปิโตรเลียมทุกโครงการ ที่มีพันธะผูกพันถึงประชาชนผู้บริโภคทั้งประเทศ เพราะพลังงานเป็นสิ่งใกล้ตัว เป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิตของประชาชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แม้จะไม่ได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่การดำเนินงานทุกโครงการควรนึกถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนและประเทศให้มากขึ้น มีแผนการรองรับ การเตรียมการล่วงหน้าให้ดีขึ้น และต้องเป็นสัญญาที่ไม่หักหลังประชาชน