เครือซีพีพร้อมกลุ่มธุรกิจในเครือฯ ร่วมแสดงพลังประกาศจุดยืนต้านการทุจริต ในวันต่อต้านคอร์รัปชัน ประจำปี 2566 จับมือภาครัฐ-ประชาสังคม กระตุ้นทุกภาคส่วนร่วมขจัดคอร์รัปชันภัยร้ายแรงของประเทศไทย
เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และกลุ่มธุรกิจของเครือฯเข้าร่วมแสดงพลังประกาศจุดยืนร่วมต้านการทุจริตในทุกรูปแบบเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “WHAT THE FACT?” ค้นหาความจริง-ใจในการต่อต้านคอร์รัปชัน จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เพื่อแสดงพลังคนไทยต่อต้านคอร์รัปชัน พร้อมส่งเสียงถึงรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยมี นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเวทีข้อเสนอจาก ACT ถึงรัฐบาลใหม่ ซึ่งในปีนี้มีผู้บริหารและพนักงานจากกลุ่มธุรกิจในเครือฯ เข้าร่วมแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์ต้านคอร์รัปชันกว่า 300 คน ประกอบด้วย เครือเจริญโภคภัณฑ์ เจียไต๋ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร บมจ.ซีพี ออลล์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร ข้าว ขนส่งและบริการ บมจ.ซีพีพีซี (กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์) บมจ.ซีพีแลนด์ และ บจ.เอเชีย เอรา วัน เพื่อหวังกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเกิดความตื่นตัว และไม่ยอมรับการโกงทุกรูปแบบร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคมและสถาบันการศึกษา ที่มาร่วมแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์ประกาศจุดยืนต้านโกงกันอย่างคับคั่ง ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือ สถานีกลางบางซื่อ
นางรงค์รุจา สายเชื้อ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านธรรมาภิบาล สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของเครือซีพีและบริษัทในเครือฯทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งมีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการ ผู้บริหารและพนักงานในทุกกลุ่มธุรกิจจึงต้องตระหนักและเห็นถึงความสำคัญในการดำเนินธุรกิจด้วยการยึดมั่นในหลักคุณธรรมและความซื่อสัตย์ รวมถึงค่านิยม 3 ประโยชน์ ซึ่งการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นการสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ค่านิยมองค์กรทั้ง 2 ข้อนี้ เครือซีพี ถือปฏิบัติมาตลอดกว่าหนึ่งศตวรรษ โดยเครือซีพีภายใต้การนำของซีอีโอศุภชัย เจียรวนนนท์ จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการทำธุรกิจที่ต้องเป็นธรรมและโปร่งใส่ พร้อมต่อต้านคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ (Zero Tolerance) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และมีความตั้งใจที่จะยกระดับแนวทางการดำเนินงานดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความไว้วางใจและประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า
นางรงค์รุจา กล่าวต่ออีกว่า เครือซีพีได้มีการจัดทำและเผยแพร่นโยบายและแนวปฏิบัติด้านการต่อต้านการทุจริต เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายว่าเครือฯ มีมาตรการในการป้องกันและคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ นอกจากนี้ได้มีการจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่บุคลากร เพื่อให้สามารถนำแนวทางไปลงมือปฏิบัติงานได้จริง โดยในปีที่ผ่านมาพนักงานของเครือฯ 100% ผ่านการอบรมด้านจรรยาบรรณธุรกิจ ในขณะเดียวกันยังได้มีการทำการประเมิน ติดตาม ตรวจสอบ พร้อมทั้งจัดทำช่องทางในการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสหากมีเรื่องทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นในองค์กร เพื่อส่งเสริมให้เครือซีพีมีวัฒนธรรมองค์กรที่ปลอดคอร์รัปชันอย่างแท้จริง
“ปัญหาคอร์รัปชันถือเป็นภัยร้ายแรงและกำลังลุกลามหยั่งรากลึกในสังคมไทย แต่ใช่ว่าจะไม่สามารถแก้ได้ ดังนั้นผู้บริหารและพนักงานในเครือซีพีและบริษัทในเครือฯ มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมแก้ปัญหาคอร์รัปชันและได้ร่วมประกาศจุดยืนต่อต้านการทุจริตในวันต่อต้านคอร์รัปชันมาอย่างต่อเนื่อง เราพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนสร้างความตระหนักรู้ กระตุ้นให้คนในสังคมเกิดพลังที่เข้มแข็งในการร่วมกันขจัดปัญหาคอร์รัปชันให้หมดไปจากประเทศไทยโดยเร็วที่สุด” นางรงค์รุจา กล่าว