สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางดอกเบี้ยเฟด ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 (คาดการณ์ครั้งที่ 2) และยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ซึ่งอาจสะท้อนถึงแนวโน้มยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์นี้ได้
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.03 บาทต่อดอลลาร์ 'แข็งค่าขึ้น' จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.13 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร (แกว่งตัวในช่วง 34.98-35.24 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งแม้ว่าเงินบาทจะมีจังหวะอ่อนค่า ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้ง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Conference Board Consumer Confidence) และยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) แต่เงินบาทก็สามารถพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ต่อเนื่อง หลังเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวออกมาแย่กว่าคาด ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยและโอกาสเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น
ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 8.827 ล้านตำแหน่ง แย่กว่าที่ตลาดคาดไว้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างปรับลดโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อและโอกาสเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ปรับตัวขึ้นแรง (Tesla +7.7%, Nvidia +4.2%) ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +1.74% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.45%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องราว +0.97% โดยตลาดหุ้นยุโรปยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นที่เกี่ยวกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน อาทิ กลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (LVMH +1.4%) รวมถึงกลุ่มเหมืองแร่ (Rio Tinto +1.7%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Shell +1.2%) หลังราคาน้ำมันดิบทยอยปรับตัวสูงขึ้น
ในฝั่งตลาดบอนด์ การปรับลดโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยและโอกาสเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานของผู้เล่นในตลาด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.13% อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจยังคงผันผวน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานในวันศุกร์นี้ ทั้งนี้ เรายังคงแนะนำ ทยอยเข้าลงทุนบอนด์ระยะยาวในจังหวะย่อตัวหรือในช่วงบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเราประเมินว่า การปรับตัวขึ้นต่อของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นอาจจำกัดอยู่ใกล้โซนจุดสูงล่าสุดแถว 4.30% ขณะที่ Risk-Reward ของการถือบอนด์ระยะยาวก็ยังมีความคุ้มค่า
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาด หลังค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ได้ปรับตัวอ่อนค่าหนักสู่ระดับ 147.30 เยนต่อดอลลาร์ ก่อนที่เงินดอลลาร์จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาแย่กว่าคาด ซึ่งทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 103.6 จุด (กรอบ 103.4-104.4 จุด) ทั้งนี้ เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ sideway เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ ในส่วนของราคาทองคำ การทยอยปรับตัวลดลงของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้าน 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และสามารถทรงตัวเหนือระดับ 1,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ซึ่งในช่วงที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นนั้น อาจมีผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางดอกเบี้ยเฟด ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 (คาดการณ์ครั้งที่ 2) และยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ซึ่งอาจสะท้อนถึงแนวโน้มยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์นี้ได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น ได้ช่วยชะลอแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าลงไปบ้าง แต่ทว่า โฟลว์ธุรกรรมในช่วงปลายเดือน ซึ่งเป็นฝั่งซื้อเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ซื้อสกุลเงินอื่น โดยเฉพาะ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังค่าเงินเยนญี่ปุ่น อ่อนค่าลงพอสมควรเมื่อเทียบกับเงินบาท ก็อาจชะลอการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทในระยะสั้นนี้ได้ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ก็อาจกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในวันนี้ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ เงินบาทอาจยังคงผันผวนในกรอบ sideway จนกว่าเราจะเห็นการกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติที่ชัดเจนและต่อเนื่อง (ล่าสุด ทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติยังไม่ชัดเจน โดย แม้ว่าในฝั่งหุ้นจะเป็นการซื้อสุทธิ แต่กลับเป็นการขายสุทธิในฝั่งบอนด์)
ในส่วนของแนวรับ-แนวต้านค่าเงินบาทในระยะสั้น เราประเมินโซนแนวรับของเงินบาทในช่วงนี้ ไว้แถว 34.80-35.00 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะเห็นสัญญาณการกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ถึงจะเห็นการกลับมาแข็งค่าขึ้นชัดเจนของเงินบาท ขณะที่โซนแนวต้าน อาจยังอยู่ในช่วง 35.30 บาทต่อดอลลาร์ เว้นว่า ปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทจะกลับมาชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ตลาดมองเฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อเกิน 60% อีกครั้ง ซึ่งต้องอาศัยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาสดใส หรือ ดีกว่าคาด
อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.90-35.15 บาท/ดอลลาร์