สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ถ้อยแถลงของบรรดาประธาน/ผู้ว่าธนาคารกลางหลักในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของเฟด ที่เมือง Jackson Hole โดยจะเริ่มจากถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในช่วงราว 18.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นว่า ประธาน ECB จะส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกกี่ครั้ง หลังข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซนล่าสุด ส่งสัญญาณชะลอตัวมากขึ้น
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.04 บาทต่อดอลลาร์ 'อ่อนค่าลงเล็กน้อย' จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน sideway (แกว่งตัวในช่วง 34.92-35.04 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีการเคลื่อนไหวอ่อนค่าและแข็งค่าไปตามทิศทางของเงินดอลลาร์และราคาทองคำ โดยรวมเงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานที่ออกมาดีกว่าคาดและความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินผันผวน
บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างทยอยขายหุ้น เพื่อลดความเสี่ยงพอร์ตการลงทุน ก่อนรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานสัมมนาวิชาการที่ Jackson Hole วันนี้ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงกังวลต่อแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ออกมาดีกว่าคาด ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.35%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาลดลง -0.41% กดดันโดยแรงขายลดความเสี่ยงพอร์ตการลงทุน ก่อนรับรู้ถ้อยแถลงของทั้งประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) และประธานเฟด ในงานสัมมนาวิชาการที่ Jackson Hole โดยผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะขายหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth (ASML -3.5%, Infineon Tech -2.5%) ที่ปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงที่ผ่านมา ตามความหวังผลประกอบการบริษัท Nvidia ของสหรัฐฯ ที่จะออกมาแข็งแกร่ง
ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ และโอกาสเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน ยังคงหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.24% นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจรอประเมินสัญญาณการปรับนโยบายการเงินจากถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานสัมมนาวิชาการที่ Jackson Hole ก่อนที่จะปรับสถานะการลงทุนที่ชัดเจน อย่างไรก็ดี เรายังคงแนะนำ ทยอยเข้าลงทุนบอนด์ระยะยาวในจังหวะย่อตัวหรือในช่วงบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเราประเมินว่า การปรับตัวขึ้นต่อของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นอาจจำกัดอยู่ใกล้โซนจุดสูงล่าสุดแถว 4.30% ขณะที่ Risk-Reward ของการถือบอนด์ระยะยาวก็ยังมีความคุ้มค่า
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยต่อได้และเฟดอาจคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดหุ้นผันผวนและปิดรับความเสี่ยง ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวขึ้น สู่ระดับ 104 จุด (กรอบ 103.5-104.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้าน 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะทยอยย่อตัวลงสู่ระดับ 1,944 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยเรามองว่า ในช่วงที่ราคาทองคำย่อตัวลง อาจมีผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อทองคำเพื่อเก็งกำไรการรีบาวด์ขึ้นระยะสั้นได้ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ถ้อยแถลงของบรรดาประธาน/ผู้ว่าธนาคารกลางหลักในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของเฟด ที่เมือง Jackson Hole โดยจะเริ่มจากถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในช่วงราว 18.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นว่า ประธาน ECB จะส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกกี่ครั้ง หลังข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซนล่าสุด ส่งสัญญาณชะลอตัวมากขึ้น ถัดมาในช่วงราว 21.05 น. ตามเวลาในประเทศไทย จะเป็นช่วงเวลาที่ผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาใกล้ชิด ว่าประธานเฟดจะมีมุมมองต่อทิศทางนโยบายการเงินของเฟดอย่างไร โดยตลาดจะจับตาทั้งแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โอกาสที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นานขึ้น (Higher for Longer) และระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมของเฟด ว่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าอดีตหรือไม่
ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจนั้น ในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานยอดการส่งออกและการนำเข้า (Exports & Imports) ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าหลักที่ยังคงชะลอตัวลง อาจกดดันให้ ยอดการส่งออก แทบไม่ขยายตัวจากปีก่อนหน้า ส่วนยอดการนำเข้าก็จะยังคงหดตัวอยู่ และโดยรวม ยอดดุลการค้าอาจกลับมาขาดดุลราว -1.3 พันล้านดอลลาร์ได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา อาจเริ่มชะลอลงบ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ ต่างก็รอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานสัมมนาวิชาการที่ Jackson Hole ซึ่งต้องระวังว่า เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง หากผู้เล่นในตลาดยิ่งเชื่อว่า เฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ และเฟดจะยังไม่รีบลดดอกเบี้ยลงจนกว่าจะถึงการประชุมเดือนมิถุนายนปีหน้า อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า หากเงินบาททยอยอ่อนค่าลง การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากปัจจัยกดดันเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา อย่าง ความไม่แน่นอนของการเมืองไทยก็ได้คลี่คลายลงแล้ว หลังการโหวตเลือกนายกฯ เสร็จสิ้นลง ทำให้เรามองว่า โซนแนวต้านของเงินบาทอาจอยู่ในช่วง 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ และมีโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวต้านสำคัญถัดไป
อย่างไรก็ดี เราเริ่มเห็นสัญญาณการทยอยกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติมากขึ้น แม้ว่า แรงซื้อหุ้นไทยอาจจะน้อยกว่าที่เราคาดหวังไว้มากก็ตาม ทำให้เงินบาทอาจยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าเพิ่มเติมได้ หากนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือน บรรดาผู้นำเข้าอาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าขึ้น ต่ำกว่าระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ในการเข้าซื้อสกุลเงินต่างประเทศได้เช่นกัน ทำให้เราประเมินว่า หากเงินบาททยอยกลับมาแข็งค่าขึ้น ก็อาจติดโซนแนวรับแถว 34.75-34.80 บาทต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.95-35.15 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด และมองกรอบเงินบาทในช่วง 34.85-35.20 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด