ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.เชียงราย เร่งประชาสัมพันธ์ หวังให้ ปชช. รู้จักองค์กรมากกว่าตัวบุคคล
ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.เชียงราย เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จักผ่านสื่อวิทยุ-ท้องถิ่น หวังให้รู้จักองค์กรมากกว่าตัวบุคคล พร้อมเตรียมพัฒนาศักยภาพทีมงาน เพิ่มขีดความสามารถในการรับเรื่องร้องเรียน
นายธนชัย ฟูเพื่อง ประธานศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินงานว่า โครงสร้างการดำเนินงานของศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.เชียงราย ประกอบด้วยคณะกรรมการที่มาจากเครือข่ายผู้ติดเชื้อ เครือข่ายแรงงาน และผู้ประสานงานจากศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพระดับอำเภอ ทำหน้าที่วิเคราะห์แผนงานและช่วยจัดการเรื่องร้องเรียน ซึ่งโดยรวมแล้วก็จะเป็นการดำเนินงานตามบทบาทภารกิจที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด
นายธนชัย กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของกรณีร้องเรียนต่างๆนั้น ทางศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.เชียงราย ได้จัดช่องทางการร้องเรียนหรือขอคำแนะนำในหลายช่องทาง ทั้งการร้องเรียนด้วยตนเอง ร้องเรียนผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผ่านผู้ประสานงานทั้ง 18 อำเภอ หรือผ่านช่องทาง Facebook, Line ซึ่งช่วงก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 นั้น มีเคสร้องเรียนที่ต้องขอรับเงินเยียวยาเบื้องต้นตามมาตรา 41 อยู่หลายเคส แต่ในช่วงของการระบาดและหลังระบาดนั้น การร้องเรียนตามมาตร 41 กลับหายไป ส่วนมากจะกลายเป็นขอรับคำปรึกษาแทน เช่น ให้คำปรึกษากรณีเสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีน 4-5 ราย และกรณีที่ต้องรักษาต่อเนื่องอีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งกรณีให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเข้าถึงสิทธิและย้ายสิทธิ
นายธนชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของกลุ่มคนไร้สถานะทางทะเบียน ก็จะมีการขอความช่วยเหลือเข้ามาเป็นระยะ ซึ่งหากเป็นกลุ่มที่อยู่ในข่ายได้รับสิทธิตามกองทุนคืนสิทธิ ก็จะให้ตัวแทนพี่น้องชาติพันธุ์ช่วยดำเนินการเอารายชื่อเข้าไปอยู่ในกองทุน ส่วนเคสที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนเลยก็จะเจอเป็นระยะๆ และมีหลายเคสที่ได้ช่วยเหลือไป เช่น เมื่อไม่นานมานี้มีเคสที่เป็นคนไทยโดยกำเนิด แต่ผู้ปกครองมีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ต้องย้ายที่อยู่ตลอด เมื่อมีลูกก็ไม่ได้ใส่ใจแจ้งเกิด พอลูกอายุมากกลับมาอยู่บ้านเดิม ช่วงโควิด-19 ก็เจอปัญหาไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ไม่มีเงินซื้อยารักษาโรคประจำตัว ทางศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง ได้รับแจ้งก็ช่วยประสานงานจนโรงพยาบาลให้ไปรับยาได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เป็นต้น
“ในส่วนของงานเครือข่าย ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนตอนนี้ยังไม่ครอบคลุมทุกอำเภอ แต่มีจำนวนเพิ่มขึ้น อย่างปีนี้เพิ่มขึ้นมาอีก 4-5 แห่งที่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งพื้นที่ที่ไม่ครอบคลุมจะเป็นพื้นที่ห่างไกล มีลักษณะเป็นภูเขา เช่น อ.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่สรวย ในส่วนที่เป็นพื้นที่ภูเขา”นายธนชัย กล่าว
นายธนชัย กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการขับเคลื่อนศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.เชียงราย ในอนาคตนั้น จะเน้นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จักศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองให้มากขึ้น เพราะที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้คือส่วนใหญ่ประชาชนจะรู้จักตัวบุคคลแต่ไม่รู้จักชื่อหน่วยงาน ทั้งที่โดยหลักการแล้วประชาชนควรรู้จักหน่วยงานมากกว่าจะรู้จักตัวบุคคล นี่จึงคือเรื่องที่ต้องพยายามแก้ไขให้ประชาชนรู้จักศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.เชียงราย โดยจะเริ่มทำการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อวิทยุและกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆภายใน 1-2 เดือนนี้
นอกจากเรื่องการประชาสัมพันธ์แล้ว ประเด็นที่จะขับเคลื่อนจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการภายในองค์กร เช่น การพัฒนาศักยภาพของทีมงานของศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.เชียงราย ซึ่งปัจจุบันมีทีมงาน 5-6 คน แต่ละคนก็จะมีความถนัดไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงต้องพยายามพัฒนาศักยภาพในเรื่องการรับเรื่องร้องเรียนและการเก็บข้อมูลเรื่องร้องเรียนต่างๆ ให้มากขึ้น เช่นเดียวกับระบบการส่งข้อมูลจากศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง ไปยังระบบของ สปสช. ซึ่งขณะนี้มีตนเป็นผู้ส่งข้อมูลได้เพียงคนเดียว ดังนั้นจึงมีแผนที่จะพัฒนาทีมงานช่วยทำหน้าที่นี้อีก 1-2 คน ในกรณีที่ตนติดภารกิจก็จะได้มีทีมงานช่วยดำเนินการให้นั่นเอง
22 สิงหาคม 2566
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช.1330
2.ช่องทางออนไลน์
-ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
-Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
-ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิก https://lin.ee/nwxfnHw