สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกรกฎาคม โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า การใช้จ่ายของครัวเรือนอาจได้รับผลกระทบจากทั้งภาวะเงินเฟ้อสูง อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และภาวะอากาศที่แปรปรวนล่าสุด ทำให้ยอดค้าปลีกอาจหดตัว -0.5% จากเดือนก่อนหน้า ชะลอลงจากที่โตกว่า +0.7% ในเดือนก่อน
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.48 บาทต่อดอลลาร์ 'อ่อนค่าลง'
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.48 บาทต่อดอลลาร์ 'อ่อนค่าลง' จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.43 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนในกรอบ Sideway (แกว่งตัวในช่วง 35.35-35.54 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะแข็งค่า ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ก่อนที่จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้ง หลังเงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้นได้ ตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวน นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำพลิกกลับมาย่อตัวลงในช่วงเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเช่นกัน
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลว่า เฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ (จาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดให้โอกาส 42% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อ ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน) ส่งผลให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างเผชิญแรงขายต่อเนื่อง (Meta -3.1%, Netflix -3.0%) ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลง -1.17% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.77%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลงต่อเนื่องกว่า -0.90% ท่ามกลางแรงขายหุ้นเทคฯ จากความกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลัก (SAP -2.5%, ASML -1.5%) รวมถึงแรงขายหุ้นที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Hermes -2.7%, LVMH -2.2%) หลังผู้เล่นในตลาดยังคงไม่มั่นใจต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน
ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มคาดว่าเฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องแตะจุดสูงสุดในรอบ 15 ปี แถวระดับ 4.33% ก่อนที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะย่อตัวลงบ้าง สู่ระดับ 4.28% ตามแรงซื้อบอนด์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ที่ยังคงมุมมองว่า บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ คงไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมาก หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะชะลอตัวลงมากขึ้นและเฟดก็อาจไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยต่อหลายครั้ง ซึ่งมุมมองดังกล่าวก็สอดคล้องกับคำแนะนำของเราที่ยังคงมองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ จะเปิดโอกาสให้ นักลงทุนสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ในจังหวะย่อตัวได้ โดยที่ Risk-Reward คุ้มค่า ในช่วงที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสูงกว่าระดับ 4.00% เช่นในปัจจุบัน
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหว sideway โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะเผชิญแรงขายทำกำไรออกมาบ้าง แต่เงินดอลลาร์ก็ไม่ได้อ่อนค่าลงต่อเนื่อง เพราะผู้เล่นในตลาดยังคงต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ในช่วงที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ทำให้เงินดอลลาร์มีจังหวะรีบาวด์แข็งค่าขึ้นและโดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวระดับ 103.4 จุด (กรอบ 103.0-103.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) มีจังหวะรีบาวด์ขึ้นทดสอบระดับ 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ทว่า การปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ในช่วงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผันผวน ได้กดดันให้ ราคาทองคำย่อตัวลงใกล้ระดับ 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ซึ่งเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกรกฎาคม โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า การใช้จ่ายของครัวเรือนอาจได้รับผลกระทบจากทั้งภาวะเงินเฟ้อสูง อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และภาวะอากาศที่แปรปรวนล่าสุด ทำให้ยอดค้าปลีกอาจหดตัว -0.5% จากเดือนก่อนหน้า ชะลอลงจากที่โตกว่า +0.7% ในเดือนก่อน
ส่วนในฝั่งไทย เรามองว่า ควรจับตาสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด หลังรัฐสภาเตรียมโหวตเลือกนายกฯ อีกครั้งในสัปดาห์หน้า อีกทั้งการจัดตั้งรัฐบาลผสมก็ดูมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้ ซึ่งล่าสุด นักลงทุนต่างชาติก็เริ่มกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิหุ้นไทยอีกครั้ง
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงมุมมองเดิมว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นเริ่มแผ่วลง ดังจะเห็นได้จากการที่เงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุระดับ 35.50-35.60 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากแรงขายเงินดอลลาร์ของบรรดาผู้ส่งออก ขณะเดียวกัน สถานการณ์การเมืองไทยที่มีความวุ่นวายน้อยลงและการจัดตั้งรัฐบาลผสมใหม่ก็มีความชัดเจน ได้ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้นได้ ดังจะเห็นได้จากแรงซื้อหุ้นไทยสุทธิราว +782 ล้านบาทในวันก่อนหน้า
ทั้งนี้ แม้เราประเมินโมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นแผ่วลง แต่ปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ และเงินบาทก็อาจผันผวนอ่อนค่าลงต่อได้ หากสถานการณ์การเมืองไทยกลับมาวุ่นวายมากขึ้นอีกครั้ง ทำให้เรายังคงประเมินแนวต้านเงินบาทในโซน 35.50-35.75 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ หากการโหวตเลือกนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลผสมเสร็จสิ้นลง เรามองว่า เงินบาทก็อาจพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น “จบรอบการอ่อนค่าที่ผ่านมา” โดยเราประเมินแนวรับเงินบาทในระยะนี้ โซนแรกจะอยู่ในช่วง 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ และโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวรับหลักที่สำคัญถัดไป
อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.25-35.55 บาท/ดอลลาร์