สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในระยะถัดไปได้ โดยตลาดประเมินว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อาจเพิ่มขึ้น 2 แสนตำแหน่ง ทำให้อัตราการว่างงานยังคงอยู่ที่ระดับ 3.6% สะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง ทั้งนี้ ตลาดแรงงานอาจลดความตึงตัวลง สอดคล้องกับยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ที่อาจลดลงต่อเนื่อง ตามภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์ 'แข็งค่าขึ้น' จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.68 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยกลับมาแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 34.55-34.70 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง ตามรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการที่ออกมาแย่กว่าคาด และการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ตามที่เราได้ประเมินไว้ หลังธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 5.25% พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อให้สำเร็จ
บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.25% หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 4.18% กดดันให้หุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ยังไม่สามารถรีบาวด์ขึ้นมาได้ชัดเจนนัก ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลประกอบการของบริษัทเทคฯ ใหญ่ ทั้ง Apple และ Amazon นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ที่ออกมาแย่กว่าคาด
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.63% ท่ามกลางความผิดหวังของผู้เล่นในตลาดต่อรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนชะลอตัว ที่สะท้อนผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการที่ปรับตัวลดลง แย่กว่าคาด ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (TotalEnergies +1.9%) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นกว่า +3%
ในฝั่งตลาดบอนด์ แรงขายบอนด์ระยะยาวฝั่งสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่บ้าง ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 4.18% อีกครั้ง ซึ่งเราคงมุมมองเดิมว่า นักลงทุนสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้ (ยังคงเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip) เนื่องจาก Risk-Reward ถือว่าน่าสนใจ โดยเราประเมินว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจมีอีกไม่มากนัก (มองบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ทะลุระดับ 4.30%) ขณะที่ การปรับตัวลดลงยังมีโอกาสพอสมควร (คงเป้าปลายปี บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แถว 3.50%) ในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง หรือ เฟดเริ่มส่งสัญญาณพร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงิน
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก กดดันโดยการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินปอนด์ หลัง BOE ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการที่ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า เฟดอาจไม่สามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ ส่งผลให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 102.5 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 102.4-102.8 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะย่อตัวลงบ้าง แต่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังปรับตัวสูงขึ้นและมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้บ้างในระยะสั้น ทำให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงแกว่งตัว sideway ใกล้ระดับ 1,970 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในระยะถัดไปได้ โดยตลาดประเมินว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อาจเพิ่มขึ้น 2 แสนตำแหน่ง ทำให้อัตราการว่างงานยังคงอยู่ที่ระดับ 3.6% สะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง ทั้งนี้ ตลาดแรงงานอาจลดความตึงตัวลง สอดคล้องกับยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ที่อาจลดลงต่อเนื่อง ตามภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งภาพดังกล่าวอาจส่งผลให้อัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) ลดลงสู่ระดับ +4.2%y/y ทำให้บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอาจคลายกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ เรามองว่า รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ยังคงเป็นปัจจัยที่ควรติดตามใกล้ชิดและอาจส่งผลต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ และส่วนในฝั่งไทย สถานการณ์การเมืองไทยจะยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อรอลุ้นการจัดตั้งว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลใหม่และการโหวตเลือกนายกฯ
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ในระยะสั้น เงินบาทอาจยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดเผชิญความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทยอีกครั้ง ที่ล่าสุดได้กดดันให้นักลงทุนต่างชาติ ต่างเทขายสินทรัพย์ไทยอีกครั้ง นอกจากนี้ ในส่วนของทิศทางเงินดอลลาร์นั้น แม้ว่าเงินดอลลาร์อาจจะอ่อนค่าลงมาบ้าง แต่เงินดอลลาร์ก็ยังพอได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ในช่วงตลาดผันผวนสูง ทำให้ต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ว่าจะออกมาในทิศทางใด โดยหากยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม รวมถึง อัตราการเติบโตของค่าจ้าง ชะลอลงต่อเนื่อง และออกมาต่ำกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดคงไม่เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ส่งผลให้เงินดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่าต่อได้ (ดัชนี DXY อาจปรับตัวลดลงสู่ระดับ 102 จุด หรือ ต่ำกว่า แต่อาจไม่ต่ำกว่าระดับ 101.5 จุด) ในทางกลับกัน หากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด เงินดอลลาร์ก็อาจยังพอมีแรงหนุนให้แข็งค่าขึ้นได้บ้าง แต่การแข็งค่าก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาดต่างก็มีสถานะ Short เงินดอลลาร์อยู่ (มองเงินดอลลาร์อ่อนค่า)
ทั้งนี้ เราคงประเมินโซนแนวต้านของเงินบาทแถว 34.75 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากเรายังคงเห็นแรงขายเงินดอลลาร์จากผู้เล่นในตลาดอยู่บ้าง แต่หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าว ก็มีโอกาสเห็นเงินบาทอ่อนค่ากลับไปทดสอบโซน 34.90-35 บาทต่อดอลลาร์ได้เช่นกัน ขณะที่โซนแนวรับในช่วงนี้ อาจอยู่ในช่วง 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าจะคลี่คลายลงถึงจะเห็นการกลับมาแข็งค่าที่ชัดเจนของเงินบาทได้
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจพลิกไปมาในช่วงนี้ ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.45-34.70 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ และคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.35-34.80 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ