สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยเราประเมินว่า กนง. จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +25bps สู่ระดับ 2.25% ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ยังมีความเสี่ยงด้านสูง รวมถึงความต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space)
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.33 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิดวันอังคารที่ 1 สิงหาคม)
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนลักษณะ sideway up หรือทยอยอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 34.21-34.43 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงใกล้โซนแนวต้าน 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับฐานของราคาทองคำ ก่อนที่เงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้น ได้บ้าง หลังราคาทองคำรีบาวด์ขึ้น
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มเผชิญแรงขายทำกำไรมากขึ้น หลังจากที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงผ่านมา นอกจากนี้ บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ก็เผชิญแรงขายเพิ่มเติม (Amazon -1.5%, Alphabet -0.9%) หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทะลุระดับ 4.00% อีกครั้ง ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.27%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ลดลงกว่า -0.89% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (LVMH -2.3%, Hermes -1.9%) หลังผลประกอบการและคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทกลุ่มดังกล่าวออกมาไม่สดใสนัก นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่สะท้อนผ่าน ภาวะหดตัวต่อเนื่องของภาคการผลิตอุตสาหกรรมในหลายประเทศ ทั้งในฝั่งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ยังคงเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ และผลการประชุม BOE ในช่วงปลายสัปดาห์ ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 102.1 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 102-102.4 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลงใกล้ระดับ 1,980 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นบ้างสู่ระดับ 1,989 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หนุนโดยภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ทั้งนี้ เรามองว่า ราคาทองคำอาจแกว่งตัว sideway จนกว่าตลาดจะรับรู้ทั้งผลการประชุม BOE และรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยเราประเมินว่า กนง. จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +25bps สู่ระดับ 2.25% ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ยังมีความเสี่ยงด้านสูง รวมถึงความต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) ทั้งนี้ เราจะรอติดตามว่า กนง. จะมีการส่งสัญญาณถึงแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินในอนาคตอย่างไรบ้าง โดยหาก กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ พร้อมกับส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังไม่สิ้นสุด เราก็พร้อมปรับมุมมองใหม่ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจบที่ระดับ 2.50%
ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ซึ่งอาจช่วยสะท้อนแนวโน้มของยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ได้ และนอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ในช่วงนี้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง ท่ามกลางแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมาก และมีโอกาสพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หาก กนง. มีมติขึ้นดอกเบี้ยตามคาด และส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า พร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงินบาทอาจจะทยอยแข็งค่าขึ้นได้ ในกรณีดังกล่าว แต่เรามองว่า ความวุ่นวายของสถานการณ์การเมืองไทย ก็อาจทำให้ ผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติยังไม่กล้ากลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทยอย่างชัดเจน ทำให้เงินบาทอาจขาดแรงหนุนที่จะทำให้ เงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน โดยเรายังคงมองว่า โซนแนวรับของเงินบาทจะยังคงอยู่ในช่วง 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวต้านยังคงเป็น 34.50 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงนี้
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจพลิกไปมาในช่วงนี้ ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.45 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม กนง. และคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.05-34.50 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม กนง.