มูลนิธิครอบครัวพอเพียง - สปสช. ร่วมจัดกิจกรรม 'ค่ายพลเมืองหลักประกันสุขภาพ รุ่นที่ 6' (Senior UHC 2023) สร้างพื้นฐานนักเรียน ม.ปลาย รู้สิทธิหลักประกันสุขภาพ ช่องทางการใช้สิทธิเพื่อเข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุข พร้อมสื่อสารกระจายความรู้สู่คนรอบข้าง ทั้งในโรงเรียน ครอบครัว และชุมชน
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท เป็นระบบที่คุ้มครองดูแลการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นให้กับคนไทย 48 ล้านคนทั่วประเทศ เพื่อให้เข้าถึงสิทธิและบริการสิทธิประโยชน์ จำเป็นต้องมีกลไกที่สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับทุกกลุ่มวัย รวมถึงกลุ่มเยาวชนช่วงอายุระหว่าง 14-18 ปี ที่ส่วนใหญ่ศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษา/อาชีวศึกษา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มประชากรที่มีความสำคัญ ด้วยเป็นวัยที่มีสุขภาพที่ดีและแข็งแรง แต่จำเป็นต้องได้รับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงหากเกิดภาวะเจ็บป่วยก็สามารถเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลได้โดยเร็วด้วยการใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาทนี้
ดังนั้นที่ผ่านมา สปสช.จึงได้จัดกิจกรรมสื่อสารเชิงรุกเรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในกลุ่มวัยมัธยมศึกษาร่วมกับ “มูลนิธิครอบครัวพอเพียง” มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ก็เช่นกัน ได้มีการจัด “กิจกรรมค่ายแกนนำนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พลเมืองหลักประกันสุขภาพ” ประจำปี 2566 หรือ “Senior UHC 2023” รุ่นที่ 6 เมื่อวันที่ 21–23 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนต่างๆ ในกรุงเทพมหานครเข้ารวมจำนวน 30 คน โดยมีวิทยากรมาร่วมให้ความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์งานที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันสุขภาพ และแกนนำเครือข่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่หลักประกันสุขภาพ UHC Young ที่เคยผ่านการอบรมมาแล้วมาร่วมเป็นพี่เลี้ยง
“กิจกรรมที่จัดขึ้นครั้งนี้ นักเรียนมัธยมที่เข้าร่วมนอกจากจะได้เรียนรู้เรื่องสิทธิและการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว ยังได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานในจังหวัดปทุมธานีด้วย ทั้งการบริการระดับปฐมภูมิที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.บ้านใหม่) การดูแลสุขภาพคนในชุมชน นวัตกรรมฟื้นฟูสุขภาพในชุมชน การคุ้มครองสิทธิโดยศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง รวมถึงการดำเนินงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เทศบาลตำบลบ้านใหม่ และจากความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากกิจกรรมครั้งนี้ จะทำให้เยาวชนมีความรู้และเข้าใจในสิทธิบัตรทอง รู้วิธีการใช้สิทธิและรับบริการ ร่วมถึงเป็นสื่อที่ดีในการสื่อสารหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปยังครอบครัว โรงเรียนและชุมชนต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
นางสาวเอื้อมพร นาวี กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิครอบครัวพอเพียง กล่าวว่า สปสช. และมูลนิธิครอบครัวพอเพียงมีความร่วมมือจัดกิจกรรมให้กับเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยนำเรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเชื่อมโยงในการขับเคลื่อนพันธกิจด้านสังคมและสาธารณสุข หนึ่งในการขับเคลื่อนพันธกิจ 5 ด้าน จำเป็นที่เยาวชนต้องมีการรับรู้ ด้วยเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยทุกคน ซึ่งนอกจากเป็นประโยชน์กับตัวเองแล้ว ในการสร้างภูมิคุ้มกันการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพแล้ว ยังสามารถนำไปเผยแพร่ให้ความรู้กับน้องๆ ในโรงเรียนได้ รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง และในชุมชน ในที่นี้รวมถึงสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติด้วย
สำหรับในปีนี้ทางมูลนิธิฯ ได้ทำการคัดเลือกเยาวชนจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศมาร่วมทำกิจกรรม จำนวน 30 คน ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่ทำกิจกรรมกับทางมูลนิธิฯ โดยก่อนที่จะเข้าค่ายนี้ ทุกคนจะต้องทำข้อมูลนำเสนอ (presentation) เกี่ยวกับสิทธิหลักประกันสุขภาพเพื่อที่จะได้รู้และเข้าใจก่อนลงพื้นที่ศึกษาจริง ทั้งที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เทศบาลตำบลบ้านใหม่ และ รพ.สต.บ้านใหม่ จ.ปทุมธานี เป็นต้น
“กิจกรรมนี้เป็นประโยชน์กับเยาวชนมาก ซึ่งเรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพ นักเรียนมัธยมปลายส่วนใหญ่รู้เรื่องนี้น้อยมาก บางคนพ่อแม่เป็นสิทธิประกันสังคมก็คิดว่าตัวเองมีสิทธิประกันสังคมด้วย ไม่รู้ว่ามีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขณะที่หลายคนไม่เคยเช็กสิทธิเลข 13 หลักเลย ทั้งนี้รวมไปถึงช่องทางการใช้สิทธิ”
นางสาวเอื้อมพร กล่าวต่อว่า หลังการเข้าค่ายแล้ว เยาวชนยังคงต้องทำกิจกรรมต่อเนื่อง นอกจากส่งข้อมูลทางโซเชียลมีเดียให้สังคมรับรู้แล้ว ยังมีจัดตั้งกลุ่มไลน์เพื่อแลกเปลี่ยนและสนับสนุนการขยายข้อมูลและกิจกรรมต่างๆ ทำต่อเนื่อง ทั้งนี้นอกจากในด้านความรู้หลักประกันสุขภาพแล้ว เยาวชนที่ร่วมกิจกรรมยังได้มีการแสดงออก ฝึกการเรียนรู้ การพูดและนำเสนอความเห็น เช่น กิจกรรมการเสนอญัตติที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ต้องมีการค้นหาข้อมูลในการดีเบสกัน เป็นต้น
“ค่าย Senior UHC เป็นกิจกรรมที่เยาวชนใฝ่ฝันอยากมาเข้าร่วม เด็กๆ รู้ว่าจะมีการจัดเพียงปีละครั้งเท่านั้นและจำกัดจำนวน ซึ่งความรู้ที่ได้รับสามารถนำไปต่อยอดได้จริง ใช้ได้ทั้งการศึกษาในอนาคต และชีวิตประจำวัน รวมถึงการช่วยเหลือคนรอบข้างได้ ซึ่งในส่วนมูลนิธิฯ และ สปสช.มีความร่วมมืออันดีมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะช่วงทำกิจกรรมเท่านั้น แต่ยังมีการประสานความร่วมมือมาตลอด เพื่อให้เยาวชนไทยมีความรอบรู้และมีประสบการณ์ที่เป็นพื้นฐานการดำเนินชีวิตในอนาคต” กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิครอบครัวพอเพียง กล่าว
น.ส.อรกัลยา พิชชาออน ประธานหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) อ.เมือง จ.ปทุมธานี กล่าวว่า ได้ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ในส่วนของบทบาทและหน้าที่ของหน่วยรับเรื่องร้องเรียน 50 (5) ขอชื่นชมเยาวชนทุกคนที่ใช้เวลามาร่วมทำประโยชน์ ซึ่งทุกคนต่างมีความตั้งใจในการเรียนรู้ มีคำถามประเด็นต่างๆ ที่สงสัย ด้วยที่เป็นตัวแทนจากแต่ละจังหวัดจึงได้ฝากให้เยาวชนกลับไปทำความรู้จักหน่วยรับเรื่องร้องเรียน 50(5) ในจังหวัดขอตนเอง และเป็นเครือข่ายที่ประสานกับหน่วยรับเรื่องร้องเรียน 50(5) เพื่อช่วยเหลือคนในครอบครัว ญาติ หรือผู้ที่อยู่ในชุมชนกรณีที่พบปัญหาการใช้สิทธิบัตรทองเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล ทั้งนี้มองว่าด้วยเยาวชนรุ่นใหม่เป็นผู้ที่มีความคิดและกล้าพูดกล้าทำ มั่นใจว่าจะเป็นพลังที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการคุ้มครองสิทธิและเดินหน้าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้
“เยาวชนที่มาทุกคนล้วนใส่ใจกับการอบรมนี้มาก ทำการบ้านเรื่องบัตรทองกันมาก่อน มีความตั้งใจ ซึ่งจะเป็นฐานที่เข้มแข็งให้กับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป อย่างไรก็ตามการจัดกิจกรรมคราวหน้าอยากให้ สปสช.จัด Work shop จำลองเหตุการณ์ เพื่อสร้างความเข้าใจในการคุ้มครองสิทธิมากขึ้น” น.ส.อรกัลยา กล่าว
นางสาวภคพร ศรีสะอาด นักเรียนโรงเรียนนครพนมวิทยาคม จ.นครพนม ในฐานะประธานรุ่น Senior UHC รุ่นที่6 กล่าวว่า เดิมทีได้ร่วมทำกิจกรรมกับมูลนิธิครอบครัวพอเพียงอยู่แล้ว เมื่อได้รับการชวนให้เข้าร่วมกิจกรรม Senior UHC 2023 ก็มีความสนใจและเข้าร่วม โดยก่อนหน้านี้ยอมรับว่า ตนเองรู้เรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิบัตรทองน้อยมาก และไม่เคยรู้เลยว่าตัวเองก็มีสิทธินี้อยู่เหมือนกัน แต่เมื่อได้เข้ามาร่วมโครงการแล้วทำให้ได้รับรู้ถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มีในระบบ และรู้สึกว่าคนไทยก็มีสิทธิดีๆ แบบนี้อยู่ เป็นสิทธิรักษาพยาบาลหากเจ็บไข้ได้ป่วยก็เข้ารับการรักษาได้ตามสิทธิโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้มองว่าเป็นสิทธิที่ดีมากๆ
หลังจากจบโครงการนี้แล้วก็จะนำความรู้ที่ได้มาต่อยอด ซึ่งที่โรงเรียนก็มีเสียงตามสายและกิจกรรมต่างๆ ก็จะนำเรื่องสิทธิและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เหล่านี้ มาบอกเล่าเผยแพร่ให้เพื่อนๆ และคนรอบข้างได้ทราบต่อไป ถือว่าเป็นสิทธิทีเป็นประโยชน์ทีดีกับทุกคน อย่างไรก็ตามแม้ว่าสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในระบบจะครอบคลุมการรักษาอยู่แล้ว แต่ก็อยากให้เพิ่มเติมบริการที่มองว่ายังจำเป็น เช่นการทำเลสิคแก้ปัญหาสายตา เพราะบางคนก็มีปัญหาสายตาตั้งแต่เกิด ซึ่งจะทำให้เขามีสายตาที่มองเห็นปกติเหมือนกับคนทั่วได้