สปสช.จัดประชุมชี้แจงการพัฒนาและประกาศใช้โครงสร้างชุดข้อมูล 13 แฟ้ม เพื่อลดภาระหน่วยบริการในการบันทึกและส่งข้อมูลเพื่อเบิกจ่าย ย้ำใช้ระบบสมัครใจไม่มีการบังคับ หน่วยบริการไหนพร้อมก็เริ่มก่อน หน่วยบริการไหนไม่พร้อมสามารถส่งข้อมูลเบิกจ่ายในระบบเดิมได้ แนะไม่จำเป็นต้องจ้าง Software vendor เพื่ออัพเกรดระบบ สปสช. จะมีเครื่องมือช่วยในกระบวนการเปลี่ยนผ่านจาก 16 แฟ้มเป็น 13 แฟ้มให้
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมชี้แจงการพัฒนาโครงสร้างชุดข้อมูล 13 แฟ้ม เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดย พล.อ.อ.นพ.ทวีพงษ์ ปาจรีย์ ผู้ทรงุณวุฒิ สายงานบริหารกองทุน สปสช. กล่าวว่า ระบบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของ สปสช. ยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาเพื่อประโยชน์ในการทำงานทั้งต่อผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ รวมถึงตัว สปสช. เองในการประมวลผลข้อมูล
พล.อ.อ.นพ.ทวีพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีความพยายามแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงระบบ e-Claim ให้ลดความซับซ้อนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกแนวทางคือพัฒนาระบบ e-Claim ตัวใหม่ที่ทำให้การบูรณาการการทำงานดีขึ้น ส่งข้อมูลตรวจสอบข้อมูลง่ายขึ้น โดยจะใช้ร่วมกับมาตรฐานข้อมูลชุดใหม่ เพื่อให้ประสิทธิภาพการเบิกจ่ายดีขึ้น
พล.อ.อ.นพ.ทวีพงษ์ กล่าวต่อไปว่า การออกมาตรฐานข้อมูลชุดใหม่ อาจทำให้หน่วยบริการกังวลว่าจะสร้างภาระงานมากขึ้น จึงขอชี้แจงว่ามาตรฐานข้อมูลชุดใหม่นี้จะเริ่มใช้จริงในการส่งข้อมูลปี 2567 และไม่ได้ใช้กับทุกสถานพยาบาล แต่จะใช้กับสถานพยาบาลนำร่องที่มีความพร้อมก่อน ดังนั้น การประชุมในครั้งนี้จึงต้องการชี้แจงข้อมูลให้หน่วยบริการและสถานพยาบาลทราบถึงโครงสร้างมาตรฐานข้อมูลชุดใหม่ว่าเป็นอย่างไร ข้อมูลแบบไหนที่ สปสช.ต้องการ และหากมีหน่วยบริการใดที่สนใจก็จะได้ส่งรายชื่อเข้าร่วมโครงการนำร่องต่อไป
ด้าน นายประเทือง เผ่าดิษฐ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปสช. พยายามปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบ e-Claim แต่เนื่องจากระบบนี้มีการใช้งานมากว่า 10 ปี และต้องรับข้อมูลหลายระบบ เช่น เป็น Clearing house ให้ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการและครอบครัว สวัสดิการพนักงานส่วนท้องถิ่น (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ทำให้ระบบมีความเทอะทะ จึงต้องพัฒนาระบบ e-Claim ตัวใหม่
อย่างไรก็ดี ตัวข้อมูลที่ใช้เบิกจ่ายยังมีหลายประเด็นที่ต้องปรับปรุง เช่น ความซับซ้อนในการเบิกจ่าย การมีหลายโปรแกรมที่ต้องบันทึกข้อมูลเนื่องจาก สปสช. มีกองทุนย่อยหลายกองทุนและอาจเกิดการจ่ายเงินไม่พร้อมกัน รวมทั้งไม่มีระบบช่วยตรวจสอบการคีย์ข้อมูลเบิกจ่าย หรืออย่างเช่นโปรแกรมที่บันทึกและส่งเบิกเพื่อชดเชยตามรายการบริการ Fee schedule ปี 2566 มีถึง 7 โปรแกรมที่ใช้บันทึกข้อมูลแยกตามรายการบริการ บางรายการบริการส่ง 2 โปรแกรมแต่ใช้ข้อมูลเหมือนกัน ต่างกันแค่รายการที่เบิก เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องจัดการข้อมูลที่ใช้ในการเบิกจ่ายให้สะดวกต่อหน่วยบริการ ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างชุดข้อมูล 13 แฟ้ม ก็เพื่อลดงานของหน่วยบริการ เน้นเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นในการเบิกจ่ายนั่นเอง
“แนวคิดการพัฒนาชุดข้อมูลมาตรฐานการเบิกจ่าย 13 แฟ้ม จะกำหนดโครงสร้างชุดข้อมูลให้หน่วยบริการเท่าที่จำเป็นสำหรับการเบิกจ่ายและตรวจสอบเท่านั้น โดยเน้นข้อมูลที่จัดเก็บในระบบ HIS (Hospital Information Systems) หรือระบบสารสนเทศของหน่วยบริการ ให้สามารถนำข้อมูลในระบบ HIS มาส่งเพื่อเบิกจ่ายโดยไม่ต้องบันทึกข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อลดภาระและลดความผิดพลาดในการส่งข้อมูล”นายประเทือง กล่าว
นายประเทือง กล่าวอีกว่า ในขั้นตอนการเปลี่ยนผ่าน สปสช. จะเตรียมเครื่องมือช่วยการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนส่งเบิก เครื่องมือในการแปลงจาก 16 แฟ้ม เป็น 13 แฟ้ม และส่งข้อมูลการจ่ายตามการให้บริการ เพื่อช่วยให้หน่วยบริการไม่ต้องไปตามดูทีละโปรแกรมเพื่อดูว่า สปสช. จ่ายเงินครบแล้วหรือยัง รวมทั้งจะให้ทีม สปสช. เขต ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจและเป็นพี่เลี้ยงในการเตรียมความพร้อมในการส่งข้อมูลในระบบใหม่
“ต้องขออภัยหน่วยบริการที่ได้มีการประกาศชุดมาตรฐานข้อมูล 13 แฟ้มออกไปโดยยังไม่ได้มีการสื่อสารก่อน ทำให้เกิดความสับสนว่า สปสช. จะบังคับใช้ชุดมาตรฐานข้อมูลแบบใหม่นี้ในวันที่ 1 ต.ค. 2566 ซึ่งต้องบอกว่าในระบบ 13 แฟ้ม เราใช้ความสมัครใจ ใครพร้อมก็เปลี่ยนก่อน ใครยังไม่พร้อมก็ให้ใช้ระบบเดิมไปก่อน และขอเน้นย้ำว่าหากมี Software vendor เข้าไปติดต่อเสนออัพเกรดระบบเพื่อให้สามารถส่งข้อมูล 13 แฟ้มกับ สปสช.ได้ ขอเตือนว่าไม่จำเป็น ไม่ต้องไปอัพเกรด เพราะ สปสช. จะมีกระบวนการช่วยเปลี่ยนผ่านจนทุกหน่วยบริการสามารถส่งข้อมูล 13 แฟ้มได้เมื่อพร้อม ไม่จำเป็นต้องรีบว่า 1 ต.ค. นี้ต้องเริ่ม พร้อมเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น” นายประเทือง กล่าว