Wisesight จับมือ depa- Etailligence- ZWIZ.AI เปิดตัวทีม ZOCIAL EYE TRAINER แนะนำการใช้งานเครื่องมือ ZOCIAL EYE ปลดล็อกศักยภาพการใช้งานข้อมูล ส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กแข่งขันตลาดดิจิทัล ตั้งราคาเฉลี่ย 89 บาท/วัน เตรียมความพร้อมขยายสู่อาเซียน
สำนักข่าวอิศรา (www.isaranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2566 บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จํากัด จัดงาน ‘Unlocking the Power of Data for Small Businesses: เสริมศักยภาพธุรกิจ ขนาดเล็กด้วยข้อมูล’ ที่สำนักงานบริษัทฯ ชั้น 33 อาคารซันทาวเวอร์ส บี โดยร่วมมือ depa, Etailligence และ ZWIZ.AI เปิดตัวทีม ‘ZOCIAL EYE TRAINER’ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องมือ ZOCIAL EYE ที่จะมาช่วยธุรกิจปลดล็อกศักยภาพการใช้งานข้อมูล และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในยุคดิจิทัล
นายกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า ธุรกิจขนาดเล็กมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตและพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 35% ของ GDP รวมของประเทศในปี 2565 แต่ด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากรการเงินและคน ทำให้ศักยภาพในการแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่อาจไม่เพียงพอ ในฐานะบริษัท SME ผู้ให้บริการข้อมูลเข้าใจและเห็นถึงข้อจำกัดนี้
“ข้อมูลจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างข้อได้เปรียบทางธุรกิจ รวมถึงการฟังเสียงของผู้บริโภคบนโลกออนไลน์จะเป็นทางลัดที่ทำให้เข้าใจผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เราจึงรวบรวมทีมผู้ฝึกสอนที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลาย มาฝึกอบรม แนะนำการใช้งานเครื่องมือ ZOCIAL EYE เพื่อส่งเสริมให้กับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก สามารถขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูลในราคาที่เข้าถึงได้ โดยเฉลี่ย 89 บาทต่อวันเท่านั้น” นายกล้าระบุ
นายกล้า ยังได้แบ่งความท้าทายของ SMEs เป็น 3 ส่วน คือ
1. Budget ที่เหมาะสม โดยมีการปรับราคาให้ทุกภาคธุรกิจสามารถเอื้อมถึง โดยเฉลี่ยตกวันละ 89 บาทเท่านั้น
2.Know How Knowledge ความรู้เป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ หากเรามีผู้เชี่ยวชาญช่วยวางกลยุทธ์ที่เหมาะสมให้ ผู้ประกอบธุรกิจก็ไม่ต้องพบกับความเสี่ยง บางครั้ง SMEs เกิดจากการลองผิดลองถูกโดยเจ้าของธุรกิจขาดซึ่งความรู้ และอาจทำให้เกิดความล้มเหลวตามมาได้
3.Human Resources ผู้เชี่ยวชาญและทีมงานที่ช่วยวางแผนกลยุทธ์และการเติบโตของธุรกิจ ดังนั้นการนำ ZOCIAL EYE Trainer มาให้คำแนะนำย่อมเป็นทางเลือกที่ดี
สำหรับทีม ZOCIAL EYE Trainer จากWisesight , depa, Etailligence, และ ZWIZ.AI ประกอบด้วย 11 ท่าน แต่ละท่านมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน ซึ่งจะนำเครื่องมือ ZOCIAL EYE เสริมแกร่งธุรกิจผ่านบทเรียน คำแนะนำ และอื่นๆ อาทิ การทำโฆษณาออนไลน์ การขายของและวางกลยุทธ์การตลาด การทำคอนเทนต์ การทำรายงาน โดยผู้ประกอบการสามารถเลือกเรียนกับผู้สอนได้ตามความเหมาะสมของธุรกิจ
ส่วนนายชนกานต์ ชินชัชวาล CEO ของ ZWIZ.AI กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2563 ตลาดบนโลกออนไลน์ในประเทศไทยเริ่มเติบโตขึ้น จนกระทั่งเมื่อปี 2565 ยอดทะลุ 1.6 ล้านล้านบาท โดยผูกกับแพลตฟอร์มต่างชาติ เช่น Shopee, Lazada, Facebook, Tiktok และ market place อื่นๆ จึงนำมาสู่แนวทางการสนับสนุน SMEs ในประเทศไทยเพื่อผลักดันให้ธุรกิจเล็กๆได้เติบโต โดยมีภาคเอกชนลงทุนสนับสนุนด้านความรู้และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ และภาครัฐสนับสนุนงบประมาณ
นายชนกานต์ ระบุว่า ไวซ์ไซท์และ ZWIZ.AI จึงจับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ พร้อมเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ ชื่อว่า ZWIZ Social Media Automation Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่จะช่วยให้การทำงานบนโซเชียลมีเดียเป็นอัตโนมัติ ตั้งแต่การตอบแชท การขายและการทำการตลาด ในเดือนกรกฎาคม 2566 นี้ จะเปิดตัวซอฟแวร์ 2 ตัวใหม่ล่าสุดชื่อว่า ZOZ (สด) ระบบไลฟ์สดรูปแบบใหม่ และ Zerva (เซอร์ว่า) ระบบจองออนไลน์ผ่านโซเชียล รวมถึงในไตรมาส 4 ของปีนี้มีแผนจะเปิดตัวอีก 2 ซอฟแวร์สำหรับ SMEs พร้อมชูเป้าหมายระยะยาวในการสร้างระบบ Social Media Automation ให้ธุรกิจในไทย พร้อมขยายไปสู่อาเซียนในปี 2567
ขณะที่ นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ที่ปรึกษา และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA) กล่าวว่า การค้าขายบนโลกออนไลน์ (E-commerce) เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และคาดการณ์ว่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยข้อมูลการซื้อขายออนไลน์ที่มากมายมหาศาล ทำให้มองเห็นถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว ผ่านการรวบรวม วิเคราะห์ และแสดงผลผ่าน Seller Etailligence Dashbord โดยมีฟังก์ชั่นการใช้งานหลัก คือ ข้อมูลภาพรวมตลาด อี คอมเมิร์ส ในประเทศไทย แบ่งตามประเภทของสินค้า ที่จะทำให้ผู้ใช้เห็นถึง ยอดขาย จำนวนร้านค้า จำนวนสินค้าที่ขายในตลาด อีคอมเมิร์ส และเจาะลึกไปถึงสินค้าที่ขายดี บอกจำนวนที่ขายได้พร้อมยอดขายรวม และอันดับของร้านค้าที่ขายดี ซึ่งการได้รับทราบข้อมูลเหล่านี้ จะทำให้ผู้ขายตัดสินใจวางแผนการตลาดได้แม่นยำมากขึ้น
ด้าน ดร.ปรีสาร รักวาทิน ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจขนาดเล็กในประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายด้านการแข่งขันในตลาด และจากผลกระทบจากโควิด-19 ธุรกิจขนาดเล็กจึงต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปรับปรุงกระบวนการ ลดต้นทุน สร้างสินค้าหรือบริการใหม่ และเข้าถึงลูกค้าใหม่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กให้ได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านมาตรการ โครงการ และกิจกรรมต่างๆ เช่น depa Digtal Transformation Fund และ depa mini transformation voucher เป็นต้น