..."ความต้องการใช้พลังงานของประเทศไทย มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งแหล่งปิโตรเลียมที่มีอยู่ในปัจจุบันล้วนแต่เป็นแหล่งที่ถูกนำปิโตรเลียม มาใช้ประโยชน์เป็นเวลายาวนานมากกว่าหลายสิบปีแล้ว"...
แม้ว่าจะมีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ทั้งพลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานจากลม แต่การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศถือเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องไม่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนพลังงาน เพราะแสงแดดไม่ได้สาดส่องลงมาตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนพลังงานจากลมก็อาจมีกำลังไม่มากพอสำหรับผลิตพลังงานได้ตลอดเวลา จึงจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาพลังงานจากแหล่งปิโตรเลียมควบคู่กันไปด้วย และโดยที่ ความต้องการใช้พลังงานของประเทศไทย มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งแหล่งปิโตรเลียมที่มีอยู่ในปัจจุบันล้วนแต่เป็นแหล่งที่ถูกนำปิโตรเลียม มาใช้ประโยชน์เป็นเวลายาวนานมากกว่าหลายสิบปีแล้ว
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ซึ่งมีภารกิจสำคัญที่ต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ จึงได้เปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 24 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) และได้พิจารณาคำขอสิทธิสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 24 โดยยึดหลักความโปร่งใสและผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ รวมทั้งพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้ขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ตลอดจนข้อเสนอทางด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐ และได้นำเสนอต่อกระทรวงพลังงาน เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) และ บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลในการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24
และเมื่อวันอังคารที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็ได้จัดพิธีลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับบริษัทผู้ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24 จำนวน 3 แปลง โดยบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65 และ G3/65 ขนาดพื้นที่รวม 20,133.87 ตารางกิโลเมตร และบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ขนาดพื้นที่ 15,030.14 ตารางกิโลเมตร
การให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในครั้งนี้ แม้ต้องรอมานานกว่า 16 ปี แต่ก็ถือว่าเกิดขึ้นได้ถูกที่ถูกเวลา และจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการพบแหล่งปิโตรเลียมใหม่ของประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงในการจัดหาเชื้อเพลิงธรรมชาติจากแหล่งภายในประเทศการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตครั้งนี้ นอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศในระยะยาวอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังนับว่าเป็นหนึ่งในมาตรการในการช่วยขับเคลื่อน และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศจากธุรกิจต่อเนื่องอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม อาทิ ธุรกิจเกี่ยวกับการสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจภาคขนส่งรวมถึงธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม เป็นต้น