รองผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติชี้ หลังเกิดนโยบาย Cancer Anywhere ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งสะดวกและเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น ผลประเมินความพึงพอใจทั้งผู้ป่วยและผู้ให้บริการอยู่ในระดับดี ปี 2567 เดินหน้าลงพื้นที่เขตสุขภาพทั่วประเทศเพื่อสื่อสารนโยบายให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
นพ.ศุภกร พิทักษ์การกุล นายแพทย์ชำนาญการพิเศษด้านเวชกรรม สาขามะเร็งวิทยานรีเวช และ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวถึงนโยบายมะเร็งรักษาทุกที่ หรือ Cancer Anywhere ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองว่า นโยบายนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 ตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบอร์ด สปสช. เพื่อเพิ่มความสะดวกและเพิ่มการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยมะเร็ง จากเดิมที่ต้องให้โรงพยาบาลต้นทางทำเรื่องส่งตัวไปโรงพยาบาลที่รักษาได้ เปลี่ยนเป็นให้ผู้ป่วยมะเร็งไปรักษาที่โรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองที่ไหนก็ได้ ทำให้มีทางเลือกในการรักษามากขึ้น และเมื่อไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นทาง ก็ช่วยอำนวยความสะดวก ลดการเดินทางของผู้ป่วยมากขึ้น เช่น คนไข้ที่อยู่ต่างจังหวัดแต่มาทำงานใน กทม. เมื่อป่วยเป็นมะเร็ง ก็ต้องกลับไปเริ่มที่โรงพยาบาลต้นสิทธิและทำการรักษาในเขตสุขภาพนั้นๆ แต่ปัจจุบันเมื่อรู้ว่าป่วยก็เข้ารักษาที่โรงพยาบาลใน กทม. ได้เลย ไม่ต้องกลับไปขอหนังสือส่งตัว
นพ.ศุภกร กล่าวต่อไปว่า ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ตัวเลขผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่อยู่ที่ประมาณ 140,000 ราย/ปี จำนวน visit ที่โรงพยาบาลทั้งรายเก่ารายใหม่ประมาณ 2 ล้านครั้ง/ปี และตั้งแต่มีนโยบาย Cancer Anywhere เกิดขึ้น จำนวนผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทองก็เพิ่มขึ้นด้วยเล็กน้อย แต่ไม่เพิ่มแบบก้าวกระโดด คาดว่าเป็นคนไข้ที่ไม่เคยใช้สิทธิบัตรทอง เช่น จ่ายเงินเอง พอมีนโยบายนี้ทำให้คนไข้บางส่วนกลับมาใช้สิทธิในระบบบัตรทอง
อย่างไรก็ดี ในแง่ความสะดวกในการรับบริการจะเห็นภาพชัดเจน ผู้ป่วยได้รับการรักษาเร็วขึ้น ผลประเมินความพึงพอใจ ทั้งจากผู้ให้บริการและผู้ระบบริการก็อยู่ในระดับดี ขณะเดียวกัน สถาบันมะเร็งฯ ได้เก็บข้อมูลการเข้าถึงบริการเปรียบเทียบก่อนและหลังมีนโยบายนี้ พบว่าอัตราการเข้าถึงการรักษา ทั้งการผ่าตัด รังสีรักษา และเคมีบำบัด เพิ่มขึ้นทีละนิดๆ โดย 5 อันดับโรคมะเร็งที่พบมากที่สุด คือมะเร็งตับ/ท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่/ลำไส้ตรง และมะเร็งปากมดลูก
สำหรับทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายของสถาบันมะเร็งฯนั้น นพ.ศุภกร กล่าวว่า สถาบันมะเร็งฯ รับผิดชอบการจัดรูปแบบบริการใน 2 ส่วน คือ 1.การออกแบบระบบข้อมูลรองรับนโยบาย เพราะเมื่อไม่มีหนังสือส่งตัว การที่โรงพยาบาลจะสื่อสารกันก็ต้องพัฒนาโปรแกรมสำหรับส่งต่อข้อมูลการรักษาระหว่างโรงพยาบาลด้วยกัน เช่น คนไข้ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งอะไร ได้รับการรักษาอะไรไปแล้วบ้าง การพัฒนาแอปฯ ตรวจสอบคิวของแต่ละโรงพยาบาลว่ามีผู้รอคิวมากน้อยเพียงใด โรงพยาบาลอะไรที่สามารถไปรับบริการได้เร็ว และพัฒนาแอปฯในมือถือ เพื่อคืนประวัติการรักษาให้คนไข้ และ 2.การจัดเครือข่ายผู้ประสานงานด้านโรคมะเร็ง (Cancer coordinator) ของแต่ละโรงพยาบาลในทุกเขตสุขภาพ ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์นโยบาย ทำความเข้าใจกับผู้ป่วย ติดต่อประสานงานระหว่างโรงพยาบาล
อย่างไรก็ดี จากการดำเนินงานในปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ยังมีอุปสรรคในบางประเด็นคือ 1.การรับรู้นโยบาย เนื่องจากนโยบายมาค่อนข้างเร็ว เวลากระชั้น และติดปัญหาโควิด-19 รวมทั้งมีการเปลี่ยนตำแหน่งคนทำงานด้วย ทำให้การสื่อสารนโยบายอาจจะยังไม่ทั่วถึง 100% 2. การประสานงาน ถ้าจะให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด การประสานงานระหว่างโรงพยาบาลต้องไหลลื่น แต่ก็ยังมีบางส่วนที่เคยชินกับระบบการใช้หนังสือส่งตัว ดังนั้นจึงต้องพยายามสร้างการประสานงานล่วงหน้าเพื่อให้คนไข้สะดวกที่สุด และ 3. ระบบข้อมูล แม้ Cancer Anywhere จะมีระบบโปรแกรมแยกต่างหาก แต่มาตรฐานข้อมูล โปรแกรมที่แต่ละโรงพยาบาลใช้มีความหลากหลาย ทำให้ต้องบันทึกข้อมูลหลายครั้ง ไม่สะดวกกับผู้ปฏิบัติงาน ดังนั้นหากเป็นไปได้ก็อยากให้ระบบข้อมูลมีมาตรฐานและเชื่อมโยงกัน จะช่วยลดภาระหน้างานได้
'การดำเนินงานต่อเนื่องในปี 2566 เราจะเน้นการลงพื้นที่เขตสุขภาพทั่วประเทศเพื่อสื่อสารนโยบายให้ทั่วถึง คนที่ย้ายมารับตำแหน่งใหม่ๆก็จะได้รับรู้นโยบาย นอกจากนี้เราพยายามผลักดันสิทธิประโยชน์การรักษามะเร็งให้มากขึ้นตามข้อมูลวิชาการใหม่ๆที่ออกมา เช่นเดียวกับระบบข้อมูล ก็จะพัฒนาล้อไปกับของกระทรวงสาธารณสุขในการพัฒนาชุดข้อมูลมาตรฐานโรคมะเร็งเพื่อรองรับการเชื่อมต่อข้อมูลร่วมกันในอนาคต และและอีกส่วนคือพยายามผลักดันเรื่องนี้เข้าไปในกองทุนประกันสังคม เพราะขณะนี้บัตรทองเป็น Cancer Anywhere แล้ว สิทธิข้าราชการก็เหมือนเป็น Cancer Anywhere อยู่กลายๆ หากประกันสังคมมีเรื่องนี้ด้วยก็จะเกิดประโยชน์กับทุกคนในประเทศจริงๆ'นพ.ศุภกร กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
-ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
-Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
-ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิก https://lin.ee/nwxfnHw