นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. แจงยาวเหยียด กกพ. ทำไม อย่างไร กับค่าไฟแพง ??
ทำไมค่าไฟแพงต่อเนื่อง
สาเหตุค่าไฟฟ้าแพงเกิดจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยซึ่งเป็นเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำที่เคยใช้ผลิตไฟฟ้าลดลงค่อนข้างมากต่อเนื่องจาก 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเหลือ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือลดลง 20-30% และต้องนำเข้า LNG ราคาแพงซึ่งเป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และตรงกับความช่วงที่มีความต้องการ LNG มากในฤดูหนาวของทางยุโรปทำให้มีราคาแพง และต้องนำเข้า LNG ราคาแพงมาทดแทนปริมาณก๊าซต้นทุนต่ำจากอ่าวไทยที่ขาดหายไป
ค่าไฟแพง กกพ.ไปอยู่ไหน ทำอะไรอยู่
- สาเหตุค่าไฟฟ้าแพงเกิดจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยซึ่งเป็นเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำที่เคยใช้ผลิตไฟฟ้าลดลงค่อนข้างมากต่อเนื่องจาก 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเหลือ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือลดลง 20-30% และต้องนำเข้า LNG ราคาแพงซึ่งเป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และตรงกับความช่วงที่มีความต้องการ LNG มากในฤดูหนาวของทางยุโรปทำให้มีราคาแพง และต้องนำเข้า LNG ราคาแพงมาทดแทนปริมาณก๊าซต้นทุนต่ำจากอ่าวไทยที่ขาดหายไป
- กกพ. มีมาตรการใช้น้ำมันในช่วงที่ราคาถูกกว่า LNG เข้ามาผลิตไฟฟ้าแทน LNG แต่โดยข้อจำกัดระบบเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาก๊าซเป็นหลักไม่สามารถใช้น้ำมันทดแทนได้ทั้งหมด
- กกพ.พิจารณาโครงสร้างต้นทุนค่าไฟฟ้ามาตลอด ยืนยันว่าเชื้อเพลิงเป็นสาเหตุหลักของค่าไฟฟ้าแพง ส่วนต้นทุนอื่นที่วิจารณ์กัน โดยสัดส่วนไม่มีผลมากนัก อย่างเช่น ถ่านหินราคาปรับเพิ่มไม่มากนัก
ค่าความพร้อมจ่ายที่พูดกันไม่ได้เพิ่มมากนักยังอยู่ระดับเดิม
- โครงสร้างต้นทุนค่าไฟปัจจุบัน ค่าไฟฟ้างวดพ.ค.- ส.ค. 2566 ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย ลำดับจากต้นทุนแพงที่สุดไปต้นทุนถูกที่สุดตามลำดับได้แก่ ค่าเชื้อเพลิงทุกประเภทเฉลี่ย 2.74 บาทต่อหน่วย
ค่าโรงไฟฟ้าเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบ 76 สตางค์ต่อหน่วย ค่าต้นทุนระบบจำหน่าย 51 สตางค์ต่อหน่วย ค่าภาระหนี้เชื้อเพลิงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 35 สตางค์ต่อหน่วย
ค่าต้นทุนระบบส่ง 24 สตางค์ต่อหน่วย ค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐเช่น Adder ค่าไฟฟรีสำหรับผู้มีรายได้น้อย ประมาณ 16 สตางค์ต่อหน่วย
ทำไมค่าไฟฟ้าประชาชนแพงกว่าค่าไฟฟ้าอุตสาหกรรม
- ค่าไฟฟ้าครัวเรือนที่ดูเหมือนสูงกว่าค่าไฟฟ้านอกภาคครัวเรือน เกิดจากค่าไฟฟ้างวดปัจจุบันมีราคาแพงเป็นผลจากปลายปี 2565 เป็นช่วงที่ต้นทุนราคาก๊าซ LNG นำเข้าสูงมากและต้องนำเข้าทดแทน
ในขณะที่ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำลดลงมาก ทำให้ค่าไฟฟ้าที่แท้จริงในงวดปัจจุบัน (ม.ค.- เม.ย. 2566) ซึ่งปกติหากเป็นอัตราเดียวจะเท่ากับ 5.24 บาทต่อหน่วย แต่รัฐบาลต้องการบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนจึงได้สั่งการให้ กกพ.คำนวณค่าไฟจากการจัดสรรก๊าซในอ่าวไทยที่มีราคาถูกให้ประชาชนก่อน จึงเป็นกรณีพิเศษที่ทำให้ประชาชนได้อัตราเดิม 4.72 บาทต่อหน่วย
- ค่าไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมงวดปัจจุบัน (ม.ค.- เม.ย. 2566) เท่ากับ 5.33 บาทต่อหน่วย เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้ช่วยรับภาระแทนประชาชนบางส่วน ในขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าในงวดพ.ค.- ส.ค. 2566 จะเหลืออัตราเดียวเฉลี่ยที่ 4.77 บาทต่อหน่วย อาจจะดูเหมือนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ก็เป็นอัตราที่ถูกลงจากงวดปัจจุบัน
ตัวเลขที่ กกพ.ใช้คำนวณค่าไฟฟ้าช้าไปหรือเปล่า
- ข้อสังเกตเกี่ยวกับต้นทุนหลักๆที่ลดลงแต่ค่าไฟฟ้ายังไม่ได้ลดลงเกิดจาก หลักเกณฑ์การคำนวณ ค่าเอฟที กกพ. ใช้สมมติฐานตัวเลขต้นทุนในปีก่อนหน้า (2565) ซึ่งเป็นการประมาณการต้นทุนในงวดถัดไป ในขณะที่การประกาศค่าไฟฟ้าในงวดก่อนหน้านี้ แนวโน้มเชื้อเพลิงขึ้นมาตลอด กกพ. เอง ใช้สมมติฐานค่าเชื้อเพลิงต่ำมาตลอดทำให้ภาระหนี้เชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเมื่อราคาเชื้อเพลิงแท้จริงที่ลดลง ส่วนต่างที่เกิดขึ้นก็จะถูกนำไปหักลบกลบนี้ในการประกาศค่าเอฟทีและค่าไฟฟ้าในงวดต่อไป
- ดังนั้น ค่าไฟฟ้าที่ถูกลงจะทยอยปรับลดลง ยืนยันว่าไม่มีใครได้กำไรและขาดทุนเพราะว่ารอบสุดท้าย ก็จะนำมาหักลบกลบหนี้กัน ในทางตรงกันข้ามขณะที่การทำประมาณการต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำเกินไปก็เป็นอันตรายและส่งผลกระทบต่อภาระหนี้สิน และสภาพคล่องของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เช่นกันเราต้องคำนึงถึงความน่าเชื่อถือของ กฟผ.ด้วย หากสภาพคล่องกระทบกับเครดิตของ กฟผ. ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศด้วย จึงอยากให้ทุกฝ่ายอยู่ได้ด้วยกัน
แล้วแนวโน้มค่าไฟต่อไปล่ะเป็นอย่างไร
- ที่มองกันว่าค่าไฟฟ้าอาจะลดลงตามแนวโน้มต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ลดลงช่วงปลายปี ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์ เพราะยังมีปัจจัยเรื่องของฤดูกาลช่วงปลายปีมีความต้องการ LNG ในช่วงฤดูหนาว และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่ยุติ ก็ยังเป็นสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนอาจจะมีผลกระทบต่อค่าเชื้อเพลิง
- ส่วนข้อเสนอภาคเอกชนที่ต้องการให้การยืดการชำระหนี้ค่าเชื้อเพลิง กฟผ. ออกไปต้องมองว่ากฟผ. มีภาระเงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน จำเป็นต้องรักษาวินัยการเงินการคลังภาครัฐ ภาระหนี้สาธารณะ และผลกระทบต่อเครดิตของประเทศ
- หลายฝ่ายมองว่าแนวโน้มของปริมาณก๊าซธรรมชาติต้นทุนต่ำจากอ่าวไทยจะมีเพิ่มขึ้น และมีผลในเดือนส.ค. 2566 กกพ.ก็มีการนำมาคำนวณในค่าไฟแล้ว ซึ่งต้นทุนเชื้อเพลิงที่ต่ำลงจะเป็นช่วงปลายงวดของค่าไฟในงวด พ.ค.-ส.ค. 2566 และจากสมมติฐานและค่าใช้จ่ายจริงจะถูกจ่ายคืนผ่านกลไกเอฟทีย้ำอีกครั้งครับไม่มีใครกำไรหรือขาดทุนจากสถานการณ์
ค่าไฟแพงประชาชนผลิตไฟฟ้าใช้เองได้มั้ย ทำไมรับซื้อไฟฟ้าจากประชาชนถูกแต่ขายไฟฟ้าให้ประชาชนแพง
- สำนักงาน กกพ. ยืนยันสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในภาคประชาชนอย่างเต็มที่ แต่ต้องยึดหลักการที่อัตราราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินต้องไม่ให้ตกเป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนทุกคนอาจจะไม่ได้มีเงินมากพอในการลงทุนติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง ดังนั้น อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากประชาชนจะต้องไม่ไปกระทบกับประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งด้วย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน
แล้วประชาชนอย่างเราต้องทำอย่างไร
- ยืนยันว่าในส่วนของ กกพ. บริหารจัดการค่าไฟฟ้าอย่างทำเต็มที่ช่วงวิกฤตการณ์ก๊าซขาดแคลนก๊าซ ซึ่งเราไม่สามารถเดินเครื่องด้วยน้ำมันได้ทั้งหมด จนถึงขณะนี้ก็สามารถผ่านวิกฤตมาได้ระดับหนึ่งแล้ว ก๊าซในอ่าวไทยที่เพิ่มขึ้น ตลาดก๊าซธรรมชาติเริ่มเปิดมากขึ้นเราก็จะซื้อ LNG ได้มากขึ้น ทำให้ กกพ. บริหารได้ง่ายขึ้น อาจส่งผลให้ค่าไฟฟ้ามีแนวโน้มที่ถูกลงมากขึ้น แต่ยังคงเชิญชวนให้ประชาชน ช่วยประหยัดการใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง