S&P Global ยกเครือซีพีเอกชนไทยรายเดียวติดสมาชิกความยั่งยืนระดับโลกกลุ่มอุตสาหกรรม Industrial Conglomerates ใน The Sustainability Yearbook 2023 ต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน ด้วยคะแนน TOP 5% โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม-กลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตอกย้ำเป้าหมาย Net Zero Emission ภายในปี 2573 พร้อมมุ่งสู่องค์กรผู้นำด้านความยั่งยืน
16 กุมภาพันธ์ 2566 - S&P Global ผู้ให้บริการข้อมูลด้านการเงิน และการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก ได้มีการประกาศรายชื่อบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับด้านความยั่งยืนที่มีความโดดเด่นใน The Sustainability Yearbook 2023 โดย เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ เครือซีพี เอกชนไทยรายเดียวที่ได้รับการประเมินดัชนีความยั่งยืนต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ด้วยคะแนน TOP 5% ของกลุ่มอุตสาหกรรม Industrial Conglomerates (IDD) ที่มีผลการดำเนินการด้านความยั่งยืนในช่วง 1-5% สูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยเครือซีพีมีคะแนนภาพรวมของมิติด้านสิ่งแวดล้อมและกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงที่สุดในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว ความสำเร็จครั้งนี้สะท้อนถึงความยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสียในระดับสากลต่อการเป็นบริษัทที่มีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยว่า เครือซีพีในฐานะเอกชนไทยที่มีความมุ่งมั่นและมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนระดับโลกมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับติดอันดับการประเมินความยั่งยืนในรายงาน The Sustainability Yearbook 2023 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยเป็นการประเมินและวิเคราะห์จากผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของเครือซีพีทั้ง 3 มิติ ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจและธรรมาภิบาล ซึ่งในปีนี้เครือซีพีได้รับการพิจารณาและประเมินจากผลงานโดดเด่นที่มีคะแนนภาพรวมของมิติด้านสิ่งแวดล้อมและกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงที่สุด ด้วยการพิจารณาจากผลการดำเนินการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในทุกด้านตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นระบบพื้นฐานการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงาน การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การลดและการจัดการของเสีย และการควบคุมมลพิษทางอากาศ จนทำให้ได้รับคะแนนการประเมินมิติด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ร้อยละ 84 ส่งผลให้เครือซีพีก้าวขึ้นเป็นผู้นำในด้านดังกล่าวของอุตสาหกรรม Industrial Conglomerates
นับเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของเครือฯ และถือเป็นการตอกย้ำเป้าหมายสำคัญที่บริษัทตระหนักและเร่งหาแนวทางในการทำธุรกิจลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาโดยตลอด ทั้งนี้เครือซีพีได้มีการประกาศเป้าหมายนำองค์กรสู่การเป็น Net Zero Emission ภายในปี 2573 พร้อมผลักดันวาระของโลกตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ดังนั้นการทำธุรกิจของเครือซีพีจึงคิดไปพร้อมกับการตั้งเป้าหมายความยั่งยืนในการพัฒนาสินค้า ผลิตภัณฑ์ และบริการให้ผู้บริโภคโดยไม่ก่อผลกระทบในเชิงลบต่อโลก
นายศุภชัย กล่าวต่ออีกว่า เครือซีพียังได้รับการประเมินจาก S&P Global ว่าเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญในด้านของเศรษฐกิจและธรรมาภิบาล ทั้งการสร้างการมีจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ การบริหารจัดการความเสี่ยง การพัฒนานวัตกรรม และการยกระดับความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ซึ่งเครือซีพีได้รับผลการประเมินในด้านนี้ที่ร้อยละ 73 ในขณะที่มิติด้านสังคม ซึ่งพิจารณาจากการบริหารจัดการบุคลากรของบริษัทอย่างเป็นธรรม โดยเครือซีพีได้ยึดแนวทางอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพในความแตกต่างและหลากหลายของพนักงาน การดูแลความเป็นอยู่ที่ดี การอบรมเพื่อให้มีความรู้ การยกระดับสุขภาพและความปลอดภัยของทั้งพนักงาน ผู้รับเหมา และชุมชน รวมไปถึงการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งเครือซีพีได้รับผลการะประเมินในด้านนี้ที่ร้อยละ 76
การได้รับรางวัลครั้งนี้ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงแนวทางความยั่งยืนทุกมิติที่บริษัทให้ความสำคัญ แต่ยังเป็นการย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่ต้องสร้างประโยชน์ให้กับทุกประเทศที่เข้าไปลงทุนตามหลักค่านิยม “3 ประโยชน์” ของเครือซีพีควบคู่ไปกับการบริหารองค์กรที่มีเป้าหมายยุทธศาสตร์ความยั่งยืนสู่ปี 2573 ภายใต้ 3 เสาหลักคือ Heart - Health – Home อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นการได้รับการประเมินความยั่งยืนในระดับสากลนี้จึงสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของเครือซีพีสู่การเป็น “ผู้นำองค์กรแห่งความยั่งยืน” และเป็นสิ่งที่แสดงถึงการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสียในระดับสากลต่อการเป็นบริษัทที่มีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนต่อเนื่อง
“เครือซีพีกำลังก้าวสู่ศตวรรษใหม่ที่มีความท้าทายในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับโลกที่มีบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป ถือเป็นโอกาสและความท้าทายของทุกกลุ่มธุรกิจในเครือฯ ที่จะต้องเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย การได้คะแนนติด TOP 5% ในกลุ่มอุตสาหกรรม Industrial Conglomerates จึงเป็นกระจกสะท้อนว่าเราได้บรรลุเป้าหมายไปอีกขั้นในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนให้สังคมและประเทศได้ตรงตามทิศทางและเป็นไปตามหมุดหมายที่เราตั้งเป้าไว้ ก้าวต่อไปของพนักงานเครือซีพีเราต้องสร้างความเชื่อว่า เราต้องทำมากกว่าเดิม เพื่อให้โลกดีขึ้นกว่าเดิมให้ได้” ซีอีโอเครือซีพี กล่าว
สำหรับการจัดอันดับในรายงาน The Sustainability Yearbook 2023 เป็นรายงานที่ได้รับความเชื่อมั่นในกลุ่มนักลงทุนและเป็นที่ยอมรับในระดับโลก โดยมีบริษัทเข้าร่วมการประเมินรวม 7,800 บริษัทจากทั่วโลก และมีเพียง 708 บริษัทที่ได้รับการคัดเลือกจัดอันดับใน The Sustainability Yearbook 2023 อย่างไรก็ตามองค์กรที่ได้รับการคัดเลือกให้ติดอันดับในรายงานฉบับนี้จะต้องผ่านการทำแบบประเมิน Corporate Sustainability Assessment หรือ CSA ซึ่งเป็นแบบประเมินที่มีความเข้มข้นที่ใช้ในการจัดอันดับดัชนีความยั่งยืนของบริษัททั่วโลก โดยจะต้องได้รับคะแนนการประเมินในภาพรวมอยู่ใน 15-30% สูงสุดของอุตสาหกรรมนั้น ๆ จึงจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของ The Sustainability Yearbook 2023 ซึ่งในปีนี้มีบริษัทไทยเพียง 38 องค์กร ที่ได้รับการจัดอันดับ ซึ่งนอกจากเครือซีพียังมีบริษัทในเครือฯ ที่ติดอันดับในรายงานดังกล่าว ได้แก่ บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร บมจ. ซีพี ออลล์ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และบมจ. สยามแม็คโคร