เทศกาลจ่ายเงินปันผล: ช่วงเวลาสำคัญ หาจังหวะ เลือกหุ้นปันผล
• ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555 - 2565) พบว่า ในช่วง 8 ปีแรก (ปี 2555 - 2562) กำไรสุทธิรวมทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียนไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ก่อนลดลงมากในปี 2563 ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 บริษัทจดทะเบียนไทยปรับตัวตอบรับสถานการณ์อย่างรวดเร็ว กอปรกับราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้กำไรสุทธิในปี 2564 กลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดดไปอยู่ที่ระดับสูงกว่า 1 ล้านล้านบาท ทำสถิติสูงสุดใหม่นับตั้งแต่เปิดตลาด
• ในปี 2565 กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนไทยยังคงเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งจากรายงานผลประกอบการล่าสุด พบว่า กำไรสุทธิสำหรับช่วง 9 เดือนของปี 2565 สูงกว่า 811,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
• บริษัทจดทะเบียนมีการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นไปตามผลประกอบการ และผลจากกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้นในปี 2564 และต่อเนื่องในปี 2565 ทำให้ในปี 2565 บริษัทจดทะเบียนมีการจ่ายเงินปันผลรวมสูงกว่า 645,622 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียน 564 บริษัท รวม 846 ครั้ง
• 3 หมวดธุรกิจที่มีการจ่ายเงินปันผลด้วยมูลค่าสูงสุดในปี 2565 ได้แก่ หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค หมวดธนาคาร หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
• ในช่วงเทศกาลจ่ายเงินปันผลในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2565 บริษัทจดทะเบียนมีการจ่ายเงินปันผลรวม 530 ครั้ง หรือคิดเป็น 62.6% ของจำนวนการจ่ายเงินปันผลทั้งหมดในปี 2565 โดยในเดือนพฤษภาคม 2565 มีจำนวนครั้งในการจ่ายเงินปันผลมากที่สุด รวม 441 ครั้ง หรือคิดเป็น 52.1% ของจำนวนการจ่ายเงินปันผลทั้งหมดในปี 2565
• จากข้อมูลกำไรสุทธิรวมในปี 2565 ของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น คาดว่าจะมีการจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้น ดังนั้น ในช่วงเวลาก่อนประกาศจ่ายเงินปันผล เป็นช่วงเวลาสำคัญที่นักลงทุนจะคัดเลือกหุ้นปันผลและเลือกจังหวะเวลาในการเข้าซื้อหุ้นปันผลเข้าพอร์ตการลงทุนของตน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผลตามเป้าหมายที่วางไว้
หมายเหตุ : ข้อมูลที่ปรากฎในเอกสารฉบับนี้ จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และแนวคิดแก่ผู้อ่าน มิใช่การให้คำแนะนำด้านการลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมิได้ให้การรับรองในความถูกต้องของข้อมูล และไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้น อันเนื่องจากการนำข้อมูลไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดไปใช้อ้างอิง หรือเผยแพร่ไม่ว่าในลักษณะใด นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขอสงวนสิทธิในการเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติมข้อมูลไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดตามหลักเกณฑ์ที่เห็นสมควร ความเห็นที่ปรากฎในรายงานฉบับนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย