คณะผู้เข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี 2023 ลงพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ศึกษาดูงาน “CNMI Go Green” บูรณาการกลไกเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีของสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมคณะผู้เข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี 2023 (Prince Mahidol Award Conference 2023 : PMAC 2023) เดินทางลงพื้นที่ จ.สมุทรปราการ เพื่อศึกษาดูงานแผนปฏิบัติการ “CNMI Go Green” ที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยมี ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รศ.นพ.วิชาญ โชคธนะศิริ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ นพ.ไพโรจน์ บุญคงชื่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ และ ผศ.พญ.สุธิดา สัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์รามาธิบดี ให้การต้อนรับ
โดยมี ดร.นพ.ธเนศ ปีติธรรมภรณ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ กล่าวบรรยายแก่ผู้เข้าร่วมประชุม PMAC 2023 ว่า สถาบันฯก่อตั้งขึ้นในปี 2560 โดยนำแนวคิด 4Es มาใช้ ได้แก่ การปฏิรูปการศึกษา เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน และสภาพ ความเป็นอยู่และการเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยม
ทั้งนี้ พื้นที่ของสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ประกอบด้วยโรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ และย่านที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ต้องรองรับผู้คนหลายพันคนต่อวันและต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก เพื่อให้การดำเนินงานดีขึ้นและยั่งยืนยิ่งขึ้น จึงได้ริเริ่มแผนปฏิบัติการที่เรียกว่า 'CNMI Go Green' ซึ่งประกอบด้วย 6 กิจกรรม ได้แก่ 1.การเพิ่มและปรับปรุงพื้นที่สีเขียว 2.การประหยัดพลังงานและการใช้แหล่งพลังงานทดแทน 3.การรีไซเคิลน้ำเสีย 4.การจัดการของเสีย 5.การส่งเสริมการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6.เพิ่มศักยภาพให้บุคลากรและนักศึกษา
ดร.นพ.ธเนศ กล่าวต่อว่า CNMI Go Green เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 และมีหลายโครงการที่ประสบผลสำเร็จ เช่น หลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ CNMI ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 3 MWh แคมเปญการประหยัดพลังงานและการจัดการของเสียทั่วทั้งสถาบันช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 464 ตันในปี 2565 CNMIx Anywheel เพิ่มการใช้จักรยานในสถาบันด้วยการมอบจักรยานกว่า 200 คัน ให้กับเจ้าหน้าที่และนักศึกษา เพื่อเพิ่มการขนส่งภายในแบบปลอดคาร์บอนและส่งเสริมสุขภาพสำหรับบุคลากรทุกคน และในปี 2566 ยังมีโครงการที่กำลังจะเปิดตัวคือการรีไซเคิลน้ำเสียด้วยการกรองและโอโซนเพื่อใช้ในหอหล่อเย็นอีกด้วย
อนึ่ง นอกจาก 6 กิจกรรมหลักนี้แล้ว สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ยังได้นำเสนอผลงานวิจัยเบื้องต้นเกี่ยวกับผลกระทบจาก PM 2.5 ที่มีต่อสิ่งมีชีวิต โดยมีการเก็บตัวอย่าง PM 2.5 จากภาคเหนือ กทม. และ จ.สมุทรปราการ มาทำการศึกษาผลกระทบที่มีต่อปลาม้าลาย เพื่อเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ของผลเสียของ PM 2.5 และคาดว่าจะสามารถตีพิมพ์ผลงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้ในเร็วๆนี้
ทั้งนี้ หลังจากรับฟังการบรรยายสรุปแล้ว คณะผู้เข้าร่วมประชุม PMAC 2023 ได้ปั่นจักรยานเยี่ยมชมพื้นที่จริง ทั้งโครงการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ผลิตกระแสไฟฟ้า พื้นที่โครงการด้านการจัดการของเสียและน้ำเสีย และโรงพักขยะและโรงบำบัดน้ำเสีย
ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การพาคณะผู้เข้าร่วมประชุม PMAC 2023 มาดูงานที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เนื่องจากมีจุดเด่นตรงที่เป็นโรงเรียนแพทย์ ซึ่งปกติเมื่อพูดถึงโรงเรียนแพทย์คนจะคิดถึงเรื่องการรักษาเป็นหลัก แต่ที่นี่มีเรื่องของการป้องกันโรคโดยการบูรณาการกลไกโครงการต่างๆ เพื่อให้สิ่งแวดล้อมมีความเป็นมลพิษน้อยลง เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การงดใช้วัตถุดิบบางอย่างหรือการใช้วัตถุดิบให้นานขึ้นเพื่อลดมลพิษที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม การบำบัดน้ำเสีย การปรับพฤติกรรมลดการใช้เครื่องยนต์มาใช้จักรยาน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้สิ่งแวดล้อมสะอาด
“สิ่งที่สถาบันฯทำการป้องกัน คือทำให้สิ่งแวดล้อมดี เมื่อสิ่งแวดล้อมดี คนก็จะสุขภาพดีขึ้น” ทพ.อรรถพร กล่าว