DJSI คัดเลือก ซีพีเอฟ เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนเป็นปีที่ 8
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ สร้างผลงานความยั่งยืนโดดเด่น 6 สาขา ด้านนวัตกรรม สิทธิมนุษยชน บรรจุภัณฑ์ สุขภาพและโภชนาการ การบริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์ และความปลอดภัยของข้อมูลในการประเมินและคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) เป็นปีที่ 8 ตอกย้ำมาตรฐานความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ที่มีความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ในปีนี้ ซีพีเอฟมีผลงานที่โดดเด่นทั้งสามมิติหลักของความยั่งยืน ด้านเศรษฐกิจและธรรมาภิบาล สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทมีคะแนนเต็ม 100 ด้านการจัดการนวัตกรรม (Innovation Management) สิทธิมนุษยชน (Human Rights) สุขภาพและโภชนาการ (Health and Nutrition) บรรจุภัณฑ์ (Packaging) การบริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relation Management) และ ความปลอดภัยของข้อมูล/ความปลอดภัยทางไซเบอร์และความพร้อมใช้งานของระบบ(Information Security/Cyber Security and System Availability) สะท้อนความมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจด้วยความรับผิดชอบเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ผู้บริโภค พันธมิตรคู่ค้าและพนักงาน
ด้านมิติสิ่งแวดล้อม ซีพีเอฟ ยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ในการบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อสร้างหลักประกันอาหารปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบของไบโอแก๊ส (Biogas) พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ทุกรูปแบบทั้งโซล่าร์รูฟท็อป (Solar Rootop) โซล่าร์ฟาร์ม (Solar Farm) และโซล่าร์บนทุ่นลอยน้ำ (Solar Floating)
ขณะที่มิติด้านสังคม บริษัทมีความโดดเด่นในหัวข้อการปฏิบัติดูแลแรงงานที่ดี รวมไปถึงหัวข้อด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งมาจากความตั้งใจและเป้าหมายของบริษัทฯ ในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนตลอดทั้งองค์กรและถ่ายทอดให้แก่คู่ค้าและพันธมิตร ด้านการเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของพนักงานอย่างไม่หยุดยั้งสู่มาตรฐานความเป็นเลิศระดับโลก
“การได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI มาตลอด 8 ปี สะท้อนความมุ่งมั่นของบริษัทในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ ตลอดห่วงโซ่อุปทานในทุกกลุ่มธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตามมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและขับเคลื่อนธุรกิจสู่เป้าหมาย ครัวของโลกที่ยั่งยืน” นายประสิทธิ์ กล่าว
ผลคะแนนที่ซีพีเอฟได้รับในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงและความพยายามของทุกหน่วยงานที่จะร่วมกันขับเคลื่อนเป้าหมายความยั่งยืน CPF Sustainability in Action 2030 อย่างแท้จริง รวมถึงการมีส่วนร่วมกับประชาคมโลกในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งนับเป็นความท้าทายและความจำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งบริษัทฯ มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ในปี 2050 โดยส่งเสริมให้ธุรกิจของบริษัทฯ ดำเนินงานตามหลักเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) และความสำเร็จตามเป้าหมายยกเลิกการใช้ถ่านหินในปี 2565 เน้นการใช้พลังงานหมุนเวียน รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ร่วมกับประชาคมโลกปกป้องพื้นที่ทางบกและทางทะเลของโลกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่ในปี 2030