ซีพี ออลล์ ผู้บริหาร เซเว่น อีเลฟเว่น และ เซเว่น เดลิเวอรี่ คว้ารางวัล CAC Change Agent Award 2022 ตอกย้ำจุดยืนภาคเอกชนดำเนินธุรกิจบนหลักธรรมาภิบาลตลอดห่วงโซ่อุปทาน ร่วมพัฒนาศักยภาพคู่ค้าผู้ประกอบการ SME จัดอบรมแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและแนวทางในการดำเนินธุรกิจร่วมกันอย่างมีธรรมาภิบาลก้าวสู่ Sustainable Supply Chain
นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่ากว่า 30 ปีที่ซีพี ออลล์ ได้ดำเนินธุรกิจด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเทนำเสนอสินค้าคุณภาพ และบริการความสะดวกแก่ลูกค้า ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล พร้อมคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2557 จึงได้เข้าร่วมแสดงเจตนารมณ์เป็นแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) และในปี 2560 ได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตนับแต่นั้น
"ซีพี ออลล์ ได้ตระหนักและให้ความสําคัญกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน 'ซื่อสัตย์ โปร่งใส ยุติธรรม คำนึงถึงชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม' เป็นแนวทางให้ผู้บริหารและพนักงานในบริษัทใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อร่วมกันสร้างค่านิยมในการดำเนินงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ และปราศจากการคอร์รัปชันให้เป็นวัฒนธรรมขององค์กร ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่ส่งผลให้องค์กรสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามเป้าหมายที่กำหนด" นายยุทธศักดิ์กล่าว
และถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ในปีนี้ซีพี ออลล์ได้รับรางวัล CAC Change Agent Awards 2022 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมี นางสาวกรณิศ ธนสุนทรกิจ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหาร เซเว่น อีเลฟเว่น และ เซเว่น เดลิเวอรี่ เป็นผู้แทนรับมอบรางวัลจาก ศ.(พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) ซึ่งรางวัลดังกล่าวเป็นการประกาศเกียรติคุณบริษัทที่ผ่านการรับรองจาก CAC และมีการชักชวนคู่ค้าที่เป็นผู้ประกอบการ SME เข้ามาร่วมประกาศเจตนารมณ์กับ CAC มากกว่า 10 บริษัทใน 1 ปี ซึ่งในปีนี้ ซีพี ออลล์ ได้เดินหน้ายกระดับคู่ค้าธุรกิจประเภท SME พร้อมเชิญชวนร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านคอร์รัปชันร่วมกับบริษัท 36 ราย เพื่อยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจและร่วมสร้าง supply chain อย่างโปร่งใส ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิตสินค้า การจัดเก็บสินค้า การส่งสินค้า ตลอดจนถึงการจัดจำหน่ายและการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า พร้อมชูกลยุทธ์ 3 ให้ SME ให้ช่องทางขาย ให้ความรู้ ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่องค์กรที่ดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ได้รับการยอมรับจากสังคม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน
ซีพี ออลล์ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการวางระบบการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันภายในและภายนอกองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยประกาศเป็นนโยบายสำคัญขององค์กร เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และจัดอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรทุกหน่วยงาน ทุกระดับชั้น พร้อมกำหนดแนวทางปฏิบัติต่อคู่ค้าหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางธุรกิจทุกกลุ่มอย่างจริงจัง ตลอดจนจัดให้มีช่องทางในการรับแจ้งเบาะแสหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการคอร์รัปชันจากพนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มทั้งภายในและภายนอกองค์กร บนพื้นฐานค่านิยมเครือเจริญโภคภัณฑ์ '3 ประโยชน์' ตอบโจทย์ประเทศชาติ ประชาชน และองค์กร
ทั้งนี้โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือเรียกสั้น ๆ ว่า CAC (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption) เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ 2553 เพื่อเป็น platform ให้บริษัทในประเทศไทยได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันโดยความสมัครใจในรูปแบบของ Collective Action โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมีเป้าหมายหลักคือส่งเสริมและขยายเครือข่ายการประกอบธุรกิจที่โปร่งใส ปราศจากการจ่าย-รับสินบน เปลี่ยนทัศนคติผู้นำภาคธุรกิจ ให้ปฏิเสธการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ ยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานที่สามารถควบคุมความเสี่ยงด้ายคอร์รัปชันของภาคธุรกิจเอกชน ผลักดันให้ภาครัฐปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ยอมรับการมีส่วนร่วม และตรวจสอบได้