เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นที่นิยมของคนไทยมาเป็นเวลานาน ไม่ว่างานเลี้ยง งานบุญ งานบวช และงานรื่นเริงใดๆ เป็นอันขาดเครื่องดื่มสีอำพันนี้ไปไม่ได้ มีหลักฐานย้อนไกลไปถึงช่วงปี พ.ศ. 1950-1952 จากที่คนจีนที่ได้บันทึกไว้ในช่วงต้นอยุธยาว่าเครื่องดื่มชนิดนี้ว่ากันว่า ทำให้คนกล้าแสดงออกมากขึ้น และเป็นตัวช่วยในการเข้าสังคม เกิดความเพลิดเพลิน
บทความวิชาการเรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบการบริหารจัดเก็บภาษีสรรพสามิต (ภาษีบาป): รายได้เพื่อความยั่งยืน กรณีศึกษา ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ เผยแพร่ใน วารสารคุณภาพชีวิตกับกฎหมาย ฉบับเดือนก.ค. - ธ.ค. 2564 ระบุว่า องค์การอนามัยโลกระบุว่าคนไทยจำนวน 1 ใน 4 บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเป็นอันดับ 5 ของโลก ซึ่งจากสถิติ พบว่า คนไทย (เฉลี่ยต่อคน) บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 6.7 ลิตรต่อปี ในปี ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2548) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 8.3 ลิตรต่อปี ในปี ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) อีกหนึ่งสถิติที่น่าสนใจก็คือ อันดับการเสียชีวิตจากการดื่มแอลกฮอล์เปรียบเทียบกับจำนวนที่ดื่มต่อคนต่อปี โดยอันดับหนึ่งยังเป็นประเทศเบลารุส โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 26
The Momentum ตีพิมพ์บทความ 10 อันดับประเทศที่มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงที่สุดในโลก ตีพิมพ์เมื่อปี 2563 โดยอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ alcohol.org ที่ระบุว่าองค์การอนามัยโลกมีข้อมูลการจัดอันดับประเทศที่มีการบริโภค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงที่สุดของโลก วัดจากเกณฑ์ตามอายุทางกฎหมายที่แต่ละประะเทศกำหนดให้สามารถดื่ม และซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 41 ที่จำนวน 20.3 ลิตรต่อคนต่อปี หรือปริมาณบริโภคต่อวัน เฉลี่ย 43.9 กรัมต่อคนต่อวัน แยกเป็น เบียร์ 28.30% ไวน์ 2.70% และเหล้าสปิริตอื่นๆ 68.90%
แน่นอนว่า ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 บังคับใช้ควบคุมทั้งการขาย การดื่ม การผลิต การโฆษณาอย่างเข้มงวด มีการจำกัดเวลาในการขายเครื่องดื่มแแอลกอฮล์ว่าให้ขายได้เฉพาะช่วงเวลา 11.00 – 14.00 น. และ 17.00 – 24.00 น. รวมไปถึงงดเว้นการขายในวันสำคัญต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่สามารถลดปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์ ลงได้
แม้แต่การนำเรื่องการเก็บภาษีสรรพาสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะเห็นว่าสามารถจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นทุกปี เมื่อพิจารณา การจัดเก็บภาษีสุราและเบียร์ในปี 2565 (สิ้นสุดปีงบประมาณที่ 31 ต.ค. 2565) เทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีที่่ผ่านมา (ณ 31 ตค. 2564) พบว่า ภาษีเบียร์จัดเก็บได้สูงสุดคิดเป็นอันดับที่ 3 ที่มูลค่า 6,067.74 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 1,108.19 ล้านบาท ส่วนภาษีสุราที่เป็นอันดับ 4 จัดเก็บได้ 5,721.47 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 1,027.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 20% ซึ่งหากรวมทั้งภาษีเหล้าและเบียร์เข้าด้วยกันเป็นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รายได้จากการเก็บภาษีสรรพสามิตหมวดนี้ จะนับว่าสูงสุด ทิ้งห่างภาษีน้ำมันและภาษีรถยนต์เลยทีเดียว
แม้รัฐจะสามารถเก็บภาษีจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เป็นจำนวนมาก แต่นั่นไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักในการขับเคลื่อน สิ่งที่รัฐต้องการคือเป็นการลดการบริโภคแอลกอฮอล์ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ลดปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจากการ บริโภคแอลกอฮอล์เกินความพอดี อันนำมาซึ่งปัจจัยหลายๆด้าน ไม่ว่าาจะเป็นอุบัติเหตุบนท้องถนน การทะเลาะวิวาท ความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาอาชญากรรม ที่ล้วนส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมแทบทั้งสิ้น
ดังนั้น คำถามที่ตามมาคือ มาตรการการควบคุมต่างๆ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเวลาขาย การห้ามใส่แบรนด์บนแก้วหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ และกฎกระทรวงที่ออกมาเพิ่มเติม อย่างต่อเนื่อง สามารถลดจำนวนผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮออล์ได้จริงหรือไม่? แล้วภาครัฐควรใช้เครื่องมือหรือ มาตรการอื่นใดเพิ่มเติมบ้างที่จะมาช่วยแก้ปัญหาได้ถูดจุดอย่างแท้จริง
หากพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาของประเทศอื่น ๆ จะเห็นว่าส่วนใหญ่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งในยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย ล้วนใช้มาตรการทางภาษี มาช่วยป้องกันพลเมืองของตนเองจากการบริโภคแอลกอฮอล์เกินพอดี แทนที่จะใช้ มาตรการการควบคุม อย่างเช่นจำกัดเวลาและวันในการจำหน่าย เพราะการบริโภคแอลกอฮอล์ในปริมาณไม่มาก ไม่ว่าจะวันไหน หรือช่วงเวลาไหนของวัน ก็ไม่น่าจะใช่สาเหตุที่นำมาซึ่งปัญหาสังคมและสุขภาพ แต่การบริโภคในปริมาณ มาก หรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดีกรีแรง ๆ ต่างหากที่ก่อให้เกิดภัยต่อสังคมและสุขภาพอย่างชัดเจน
ตามรายงานของยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ระบุไว้ว่า “ปริมาณการบริโภคเฉลี่ยในสังคมมีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของปัญหาทั้งปัญหาแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ทั้งนี้เนื่องจากความรุนแรงของผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพหลายประเภทนั้นแปรผันตามปริมาณแอลกอฮอล์ที่บริโภค (dose-response relationship)” ดังนั้น การควบคุมปริมาณการบริโภค จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ต้องเน้นเพื่อทำให้ การควบคุมแอลกอฮอล์มีประสิทธิผล
ดังนั้น หากไทยมีความจริงใจในการแก้ปัญหา ผู้บริหารประเทศควรกลับมาย้อนคิดและวิเคราะห์ ว่าเราควรนำมาตรการ ทางภาษีที่ถูกต้องและเป็นไปตามหลักมาตรฐานสากลมาใช้ในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันหรือยัง
แม้ประเทศไทยจะระบุเป้าหมายว่าต้องการลดการบริโภคแอลกอฮอล์โดยรวม แต่อัตราการบริโภคของคนไทยกลับสวนทาง อันสะท้อนมาถึงการเก็บภาษีกลับที่มีความลักลั่น คือแทนที่จะเก็บภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์ที่อยู่ในเครื่องดื่ม กลับใช้แบ่งหมวดหมู่แล้วตั้งภาษีให้แต่ละหมวด และใช้ราคาขายมากำหนดระดับขั้นภาษี เช่น เครื่องดื่มราคาสูง ก็เก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้น ไม่ใช่ว่าราคาขายสูง พอเก็บภาษี ณ ระดับที่เท่ากัน จึงได้เม็ดเงินมากกว่า แต่กลับเป็นว่าเพราะราคาขายปลีกสูง จึงต้องจ่ายภาษีในหมวดที่สูงขึ้น โดยไม่คำนึงว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์เท่าไหร่ กลายเป็นว่าเครื่องดื่มอย่างเบียร์ กลับต้องเสียภาษีสูงถึง 22% ในขณะที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ราว 4-6% ผิดกับเครื่องดื่มบางชนิดที่มีแอลกอฮอล์เท่ากัน มีรสหวานดื่มง่ายแต่ภาษีดันเก็บต่ำกว่า อยู่ที่เพียง 10% แม้กระทั่งเหล้าขาวที่ดีกรีสูง กินแล้วเมาง่าย สติขาดได้เร็ว กลับมีภาษีต่ำเก็บที่ 2% ราคาจึงถูก เข้าถึงง่าย กินได้ทีละเยอะ ๆ เสมือนกับรัฐจงใจผลักให้คนมีรายได้น้อยมีโอกาสเข้าถึงความตายง่ายขึ้น ไม่ว่าจะจากสุขภาพหรืออุบัติเหตุ
ความลักลั่นของรัฐบาลไม่ได้เห็นได้จากการตั้งภาษีเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงกลุ่มเด็กวัยใสในการเข้าถึง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ส่วนใหญ่จะเริ่มจากเครื่องดื่มสีสวย รสหวาน ดื่มง่าย ราคาไม่แพง ราวรัฐก็เหมือนจะรู้ในจุดนี้้ จึงได้ตั้งภาษีกลุ่มเครื่องดื่มที่รสชาติหวาน สีสันสดใส ราคาไม่แพง แอลกอฮอล์ต่ำกว่า 5% ให้จ่ายภาษีเพียง 10% ในขณะที่เครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมไม่มีแอลกอฮอล์ กลับถูกป้ายสีให้เป็นตัวร้าย และต้องจ่ายภาษีอยู่ที่ 14%
สิ่งที่เราอยากจะบอกคือ แม้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่มสำหรับงานรื่นเริง การเข้าสังคมของคนไทย มาเป็นเวลานาน แต่เราควรนำมาตรการทางภาษีมาช่วยทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังคงความเป็นตัวช่วย ที่สร้างความเพลิดเพลิน ให้คนกล้าแสดงออก โดยให้บริโภคในปริมาณที่จำกัด ไม่ใช่ปล่อยให้บริโภคกันทีละมาก ๆ
จนกลายเป็นปัญหาสุขภาพและปัญหาสังคมหรือไม่
ถึงเวลาหรือยังที่เราจะรื้อความบิดเบือนในโครงสร้างและมาตรการการจัดการ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์อย่างจริงใจ โปร่งใส และยั่งยืน