ธนวัฒน์ ว่องไวตระการ 'Young Smart Farmer' เกษตรกรรุ่นใหม่ กับการพลิกแนวคิด เพิ่มมูลค่าผลผลิต ตอบเทรนด์ผู้บริโภค
“ชนะอะไรไม่เท่าชนะใจตัวเอง” นี่คือจุดเริ่มต้นของ ธนวัฒน์ ว่องไวตระการ ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ที่พลิกฟื้นผืนดินจากการทำเกษตรแบบดั้งเดิม มาสู่การทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งต้องฟันฝ่าอุปสรรคและใช้เวลามากกว่า 2 ปี ในการสร้างแปลงผักออร์แกนิกที่ได้มาตรฐานส่งถึงมือผู้บริโภคผ่านสาขาต่างๆ ของแม็คโคร
“ครอบครัวผมเป็นเกษตรกรชาวไร่ ที่ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ปีละครั้ง เมื่อเรียนจบออกมา จึงมองหาช่องทางที่จะปลูกพืชผักชนิดอื่น เพื่อหารายได้หมุนเวียนเข้ามาเสริม” ธนวัฒน์ ว่องไวตระการ ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ วัย 27 ปี เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการปลูกผักเสริมรายได้จากการทำไร่อ้อยและมันสำปะหลัง
พลิกชีวิตสู่วิถีเกษตรอินทรีย์
ช่วงแรกเขาลองผิดลองถูกกับการปลูกผักหลายชนิดที่ต้องใช้สารเคมี เพราะให้ผลตอบแทนดี ตามคำบอกเล่าที่ว่า … จะทำให้มีรายได้ มีโอกาสรวยเหมือนถูกหวย... ซึ่งเมื่อลงมือทำ สิ่งที่เขาต้องเจอหลังจากนั้น ทำให้ “ธนวัฒน์” เปลี่ยนแนวคิดในการทำเกษตรไปอย่างสิ้นเชิง
“การเริ่มต้นปลูกผักของเรา ยอมรับว่า ใช้สารเคมีเยอะมาก จนตัวผมเองได้รับผลกระทบ จากการฉีดพ่น ทำให้แสบและคันไปทั้งตัว เห็นถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากการใช้สารเคมี จึงมองหาวิธีใหม่ในการทำเกษตร และเห็นว่าผักอินทรีย์ ผักออร์แกนิกปลอดสารพิษเป็นคำตอบ”
ธนวัฒน์ จึงเริ่มหาความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์แบบเจาะลึก ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ และเรียนรู้จากวิสาหกิจชุมชน จนพบกับเกษตรกรที่เป็นเครือข่ายผู้ส่งผลผลิตให้กับแม็คโคร จึงได้แลกเปลี่ยน พูดคุย รวมถึงให้คำแนะนำภายใต้แนวคิด “การตลาดนำการผลิต”
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้าในปัจจุบัน ที่ทีมงานผู้เชี่ยวชาญของแม็คโคร บอกเขาว่า หลังจากสถานการณ์โควิด ผู้บริโภคหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ความต้องการผักอินทรีย์ ผักออร์แกนิกปลอดสารพิษในกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการร้านอาหาร และผู้บริโภคทั่วไป ก็มีมากขึ้นตามลำดับ
จากขาดทุนสู่กำไรชีวิต
ด้วยความมุ่งมั่นของ ธนวัฒน์ ที่จะก้าวเดินสู่วิถีการทำเกษตรอินทรีย์ เขาจึงรวมกลุ่มกับเพื่อนเกษตรกรจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ขึ้นมา เพื่อสร้างผลผลิตที่จะตอบโจทย์ความต้องการของตลาด โดยก้าวแรกของเขาเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ และด่านสำคัญที่เขาต้องผ่านไปให้ได้ ก็คือ การเปลี่ยนแนวคิดของครอบครัวที่ทำเกษตรแบบดั้งเดิม มาสู่การทำเกษตรอินทรีย์
จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรเครือข่ายผู้ส่งผลผลิตให้กับแม็คโคร ทำให้เกิดองค์ความรู้ที่จะเดินหน้า เขาขอทางบ้าน เปลี่ยนพื้นที่กว่า 60 ไร่ มาทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกผักออร์แกนิก โดยใช้เวลากว่า 2 ปี ในการพัฒนาและปรับสภาพแวดล้อม ให้ได้มาตรฐานออร์แกนิกและมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย (GAP) ซึ่งต้องลงทั้งเงินทุน ช่วงแรกก็ขาดทุนไปเป็นหลักล้านบาท แต่ด้วยความมุ่งมั่น เขาทุ่มเทแรงกายแรงใจ จนได้พื้นที่เกษตรอินทรีย์แปลงใหญ่ ที่ประสบความสำเร็จอย่างปัจจุบัน
“ช่วงแรกผมปลูกผักที่มีอายุสั้น ให้ได้ผลตอบแทนเร็ว เช่น กวางตุ้ง ผักบุ้ง คะน้า ก็โตบ้าง ไม่โตบ้าง เลยพยายามหาความรู้เพิ่มเติม และลองผิดลองถูก รวมทั้งไปศึกษาดูงานจากที่ต่างๆ จึงรู้ว่าตลาดมีความต้องการสินค้าชนิดใด เราก็ปลูกพืชชนิดนั้น ส่งผลให้มีรายได้ต่อเนื่องและมั่นคงมากขึ้น” ธนวัฒน์กล่าว
ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรอินทรีย์ อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ส่งผักปลอดสารพิษไปจำหน่ายยังสาขาต่าง ๆ ของแม็คโครมากกว่า 30 ชนิด มีรายได้หลักแสนบาทต่อเดือน โดยไม่หยุดที่จะพัฒนาพืชผักเกษตรอินทรีย์ให้มีคุณภาพ พัฒนาผักอินทรีย์ใหม่ๆ ป้อนตลาดที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น พริกหวาน และมะเขือเทศโทมัส จาก จ.เชียงใหม่
ล่าสุดธนวัฒน์ คิดทำผักดูโอ้ (Duo) ที่นอกจากจะนำมาประดับตกแต่งแล้ว ยังนำมาใช้ประโยชน์คู่กันและเป็นที่ต้องการของร้านอาหาร คาเฟ่ โรงแรม อย่าง โรสแมรี่และเลมอน เป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ยกระดับผัก ออร์แกนิกให้มีมูลค่าสูงขึ้น
“การทำผักอินทรีย์ ทำให้ได้ราคาผลผลิตที่สูงขึ้น เหมือนเป็นรางวัลชีวิตให้กับเรา ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจของเราคิดว่า จะมุ่งมั่นและพัฒนาต่อไป อนาคตยังคิดที่จะแปรรูปผลผลิตเพิ่มมูลค่า โดยมีทีมงานของแม็คโครคอยให้คำแนะนำที่ดี เรียกว่าเป็นเพื่อนคู่คิดให้กับเราจริงๆ ” ธนวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย
ธนวัฒน์ กลายเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง เขาเป็น “Young Smart Farmer” ที่ประสบความสำเร็จในการทำเกษตรอินทรีย์แปลงใหญ่ มีผู้คนเดินทางมาดูงาน ศึกษาแนวคิดของเขาและสมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี อย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังมีโอกาสเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนความรู้ให้กับเกษตรกรที่สนใจ และเขายังส่งผลผลิตอินทรีย์ขายให้แม็คโครในหลายเวที รวมถึงงานมหกรรมครบเครื่องเรื่องอาหารและอุปกรณ์ ครั้งที่ 15 ที่เมืองทองธานี ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่านอกเหนือจากผลลัพธ์ที่เป็นรายได้ ความรู้ที่ธนวัฒน์ได้จากการลงมือทำจริง เป็นเหมือนกำไรที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล