ทำความเข้าใจอัตราค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มโดยบวกเพิ่มจากอัตราค่าไฟฟ้าปกติเป็นระยะเวลา 7 หรือ 10 ปี(Adder) และ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแต่ละประเภท(Fit)ที่มีผลต่อค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน
ในช่วงนี้มีข่าวเกี่ยวกับค่าไฟฟ้าแพง โดยมีการกล่าวหากันว่ามีหลายสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ดังเช่น ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยและจากสหภาพพม่าลดลง ทำให้ต้องนำเข้า Spot LNG เข้ามาเสริมเดินเครื่องไฟฟ้า สงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้ Spot LNG มีราคาแพงขึ้นมากและราคาผันผวน รวมทั้งใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตามาเสริมช่วยด้วย นอกจากนั้นยังมีปัญหาสหภาพพม่าไม่สามารถผลิตก๊าซได้ตามแผน หรือพูดงายๆว่าผลิตได้น้อยลง รวมทั้งค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอยางต่อเนื่องตั้งแต่กลางปีเป็นต้นมาทำให้การนำเข้าเชื้อเพลิงทั้ง LNG และถ่านหิน เมื่อแปลงเป็นเงินบาทราคาสูงขึ้น
นอกจากนี้ยังมีข้อกล่าวหาว่าภาระค่าไฟฟ้าสูงขึ้นมาจากสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มพลังงานหมุนเวียนในอดีต เป็นการรับซื้อไฟฟ้าแบบให้เงินสนับสนุนส่วนเพิ่ม (Adder) ในอัตราสูง 6-8 บาทต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฐานแล้วอยู่ที่ 10-12 บาทต่อหน่วย ทำให้ต้องจ่ายเงินถึงปีละ 4-5 หมื่นบาท ซึ่งก็ผลักภาระค่าใช้จ่ายไปรวมกับค่าเอฟทีนั่นเอง เลยขอทำหน้าที่อธิบายเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายๆ ด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงประกอบดังนี้
Adder
Adder คืออัตราค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มโดยบวกเพิ่มจากอัตราค่าไฟฟ้าปกติเป็นระยะเวลา 7 หรือ 10 ปี ตามประเภทของโรงไฟฟ้า Adder เริ่มใช้มาตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ 2550 โดย กฟน. และ กฟภ. ออกประกาศกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) โดยกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อในอัตราคงที่ตามประเภทเชื้อเพลิงต่างๆ 7 ปี ดังนี้ พลังงานชีวมวลและก๊าซชีวภาพ อัตรา 0.30 บาทต่อหน่วย ขยะ อัตรา 2.50 บาทต่อหน่วย พลังงานลม อัตรา 2.50 บาทต่อหน่วย และพลังงานแสงอาทิตย์ อัตรา 8 บาทต่อหน่วย ต่อมาในวันที่ 9 มีนาคม 2551 ได้มีการปรับอัตราให้สะท้อนต้นทุนมากขึ้น ซึ่งอัตรา Adder ได้ใช้มาเป็นเวลาประมาณ 5 ปีกว่า หลังจากนั้นจึงได้มีการปรับเปลี่ยนการประกาศรับซื้อไฟฟ้ามาเป็นรูปแบบ FiT แทนรูปแบบAdder ทั้งหมด
FiT (Feed-in-Tariff)
การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแต่ละประเภทจะมีความเสี่ยงของการดำเนินงานแตกต่างกันอย่างชัดเจน การผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากพลังงานธรรมชาติ อันได้แก่ แสงอาทิตย์ ลม และน้ำขนาดเล็ก จะไม่มีต้ทุนในการจัดหาเชื้อเพลิง แต่จะมีความเสื่ยงจากความไม่แน่นอนของพลังจากธรรมชาติ ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากอีกกลุ่มหนึ่งอันได้แก่ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพและขยะ จะมีความเสี่ยงจากความผันผวนของต้นทุนในการจัดหาเชื้อเพลิง ดังนั้น การกำหนด FiT จึงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
- อัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนคงที่ (Fit Fixed : FITf) คิดจากต้นทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าและค่าดำเนินการและค่าบำรุงรักษาตลอดอายุโครงการ ใช้สำหรับพลังงานหมุนเวียนทุกประเภท
- อัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนผันแปร (FiT Variable : FiTv) คิดจากต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า มีเปลี่ยนแปลงตามเวลา ใช้สำหรับพลังงานหมุนเวียนกลุ่มพลังงานชีวมวลและชีวภาพ
หลังจากประเทศไทยได้ใช้อัตราส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนแบบ Adder มาเป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปีเศษ ก็ได้มีการนำเอาอัตราส่งเสริมแบบแ FiT คือ อัตรารวมราคาไฟฟ้าฐานแล้ว ประกาศคงที่เป็นเวลา 20 ปี ซึ่งประกาศใช้ครั้งแรกมาตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2557 หลังจากนั้นก็ได้มีการปรับ FiT ให้เหมาะสมกับต้นทุนที่เปลี่ยแปลงไปหลายครั้งโดยมีอัตราลดลงตามลำดับ เช่น ในปี 2560 ได้มีประกาศใช้อัตรา FiT ของ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสานเชื้อเพลิง (SPP Hybrid Firm) ต่อมาในปี 2562 ก็มีการปรับ FiT อีกครั้ง จนล่าสุดเมื่อกลางปี 2565 ก็ได้มีประกาศ FiT ช่วงปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงซึ่งในขณะนี้กำลังเปิดรับซื้อ
ผลกระทบต่อค่าเอฟที
เนื่องจากการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีขึ้นเป็นระยะ ไม่ได้กำหนดเวลาที่แน่นอน จึงไม่ได้เอาไปรวมกับค่าไฟฟ้าฐานซึ่งมีการปรับทุกๆ 3-5 ปี แต่นำมารวมไว้ที่ค่าเอฟที
Adder ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2550-51 มีอัตราค่อนข้างสูง แต่มีระยะเวลา 7-10 ปี ถึงปัจจุบันค่า Adder ที่มีผลต่อค่าเอฟที ใกล้หมดแล้ว ผลกระทบต่อค่าเอฟทีในขณะนี้ส่วนใหญ่มาจาก FiT ในช่วงปี 2558-64 ดังจะดูได้จากตารางพบว่าใน ปี 2558 มีผลกระทบต่อค่าเอฟที เท่ากับ 14.31 สตางค์ต่อหน่วย ปี 2563 เท่ากับ 30.18 สตางค์ต่อหน่วย ปี ปี 2564 เท่ากับ 30.87 สตางค์ต่อหน่วย และปี 2565 ลดลงเหลือ 25.40 สตางค์ต่อหน่วย จะเห็นได้ว่ามีอัตราคงที่ในปี 2563-64 และเริ่มลดลงในปี 2565 และในช่วงข้างหน้าคาดว่าจะทยอยลดลง เพราะว่า FiT หลังปี 2558 มีอัตราลดลงตามลำดับ
สรุปได้ว่า จากข้อมูลผลกระทบของ Adder และ Fit ที่มีผลกระทบต่อค่าเอฟทีที่อยู่ในระดับ 30 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้นเอง ดังนั้นข้อกล่าวหาว่าทำให้ค่าไฟฟ้าสูงในช่วงปี 2565 มาจากมาตรการส่งเสริมพลังงานทดแทนในรูป Adder และ Fit ไม่น่าจะถูกต้อง และยังยืนยันว่าสาเหตุหลักๆของค่าไฟฟ้าแพงมาจากค่าเชื้อเพลิงนำเข้า Spot LNG ที่สูงขึ้นมากในขณะนี้