ภาครัฐชูบทบาทเอกชนเป็นกลไกสำคัญร่วมเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสนับสนุนเป้าหมายรัฐบาลรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ สะท้อนผลสำเร็จความร่วมมือ 3 ประสาน รัฐ เอกชน และชุมชนอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป่าชายเลน ยกต้นแบบ ความร่วมมือกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมฟื้นฟูผืนป่า ช่วยภาครัฐประหยัดงบประมาณ รักษาสมดุลระบบนิเวศ ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งเสริมมิติด้านเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม ของชุมชนในพื้นที่
นายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ประเทศไทยประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยได้กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการร่วมแก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อน ซึ่งหนึ่งในแนวทางของการแก้ปัญหาและเป็นเรื่องที่สำคัญมาก คือ การเพิ่มพื้นที่ป่า ทั้งป่าต้นน้ำ และป่าชายเลนโดยเฉพาะการปลูกป่าชายเลนที่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้มากกว่าป่าบกประมาณ 3 เท่า สอดรับตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 กำหนดเป้าหมายให้เพิ่มพื้นที่ป่าไม้เป็น 40 % ของพื้นที่ประเทศ
การเข้ามีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการปลูกป่าชายเลน จึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ภาครัฐสามารถตอบสนองต่อนโยบายดังกล่าว ซึ่งในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่ที่มีแนวเขตติดทะเลและมีปัญหาถูกกัดเซาะชายฝั่ง โดยที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน อย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เข้ามาช่วยดูแลรักษาและเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลน ช่วยให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณที่ต้องใช้ในการดูแลผืนป่า ถ้าเรามีภาคเอกชนเข้ามาช่วยหลายๆราย จะทำให้สามารถดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลได้สำเร็จเร็วขึ้น
“ความร่วมมือของภาคเอกชนอย่างซีพีเอฟ ที่เข้ามาช่วยดูแลและเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ในช่วง 7- 8 ปีมานี้ เห็นผลสัมฤทธิ์ชัดเจน สมดุลระบบนิเวศกลับคืนมา ความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น เป็นผลจากการฟื้นฟูป่าที่ทำให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และผลที่ชัดเจนอีกประการหนี่ง คือ ป่าชายเลนที่เพิ่มขึ้น ช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของคลื่นทะเล ขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนช่วยกันปลูกต้นไม้ทั้งป่าต้นน้ำ และป่าชายเลนเพื่อโลกของเรา รวมทั้งแก้ปัญหาขยะที่ไหลลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง ทะเล และมหาสมุทร เพื่อดูแลสมดุลระบบนิเวศทั้งทางบกและทางทะเลอย่างยั่งยืน” นายวัฒนา กล่าว
ด้าน นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯมุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมบรรเทาผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ มุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามเป้าหมายของรัฐบาลและเป้าหมายของโลก โดยได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป่าชายเลนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ ซึ่งปัจจุบัน ซีพีเอฟ ได้อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป่าชายเลนไปแล้วมากกว่า 10,000 ไร่ และในระหว่างปี 2562-2566 มีเป้าหมายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนเพิ่มอีก 2,800 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ระยอง และตราด ขณะที่ผลการดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนในระยะที่หนึ่ง ( ปี 2557-2561) ซีพีเอฟอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าในพื้นที่ 5 จังหวัด รวม 2,388 ไร่ พร้อมทั้งต่อยอดสู่การสร้างงาน และสร้างอาชีพให้กับชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
“ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน มาตั้งแต่ปี 2557 โดยร่วมมือกับภาครัฐและชุมชน ในพื้นที่ตำบลบางหญ้าแพรก อนุรักษ์ป่าชายเลนรวม 500 ไร่ ปลูกป่าใหม่เพิ่มเติม 104 ไร่ และในระหว่างปี 2562-2566 ซึ่งเข้าสู่ระยะที่สองของโครงการ ฯ มีเป้าหมายปลูกป่าใหม่เพิ่มเติมอีก 266 ไร่ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 115 ไร่ ถือว่าเป็นพื้นที่ต้นแบบของการปลูกป่าชายเลนของสมุทรสาคร ที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแก้ปัญหาพื้นที่ถูกกัดเซาะชายฝั่งจากคลื่นทะเล จนประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูป่า และยังมีแผนในการขอรับรองคาร์บอนเครดิตในอนาคตด้วย” นายวุฒิชัย กล่าว
นายวุฒิชัย ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากร่วมมือกับภาครัฐ อาทิ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และชุมชนในพื้นที่ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครแล้ว ซีพีเอฟยังได้ร่วมมือกับชุมชนตำบลบางหญ้าแพรก และเทศบาลตำบลบางหญ้าแพรก จัดกิจกรรมกับดักขยะทะเล (Trap the Sea Trash) ลดการทิ้งขยะ เก็บ ดักขยะ ในคลองสาธารณะ ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำบริเวณปากอ่าวและทะเลอ่าวไทยตอนบน เพื่อช่วยลดปริมาณขยะที่ไหลลงสู่ทะเล พร้อมทั้งส่งเสริมการบริหารจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยหลักการ 3R คือ ลดการใช้ (Reduce) นำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ทำให้ชุมชนมีรายได้จากการนำขยะไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ได้ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net –Zero) ในปี 2050 โดยวางกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อก้าวสู่เป้าหมายดังกล่าว ใน 2 ด้านหลัก คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ฯลฯ และอีกด้านหนึ่ง คือ การกักเก็บคาร์บอน (Carbon Removal) โดยได้ประกาศเป้าหมายต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าให้เป็นศูนย์ การฟื้นฟูป่าและการปลูกต้นไม้ มีเป้าหมายอนุรักษ์ ปกป้อง และ ฟื้นฟูป่า ทั้งป่าต้นน้ำและป่าชายเลน รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียว ด้วยการปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการ มีเป้าหมายดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสม 200,000 ตัน ครอบคลุมพื้นที่ 20,000 ไร่ ภายในปี 2573