บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าขับเคลื่อนแนวทางการจัดหาวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ด้วยความรับผิดชอบอย่างยั่งยืน ยืนยันจัดซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากแหล่งผลิตที่ไม่ตัดไม้ทำลายป่า 100 % และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งปลูกที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย หนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทาง SDGs ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และร่วมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ
นายวรพจน์ สุรัตวิศิษฏ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินการจัดหาวัตถุดิบหลักทางการเกษตรในการผลิตอาหารสัตว์ให้กับซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการจัดหาวัตถุดิบ หลักทางการเกษตรฯ ตามนโยบายการจัดหาอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน จากแหล่งผลิตที่ไม่มีการบุกรุกป่าและไม่ตัดไม้ทำลายป่า 100 % ซึ่งปัจจุบัน ได้จัดซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มาจากแหล่งผลิตที่มีการปลูกอย่างยั่งยืน และผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งปลูกที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ บริษัทฯได้มีการยกระดับการจัดการข้อมูลให้เชื่อมต่อเข้าสู่กระบวนการผลิตในโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ด้วยเทคโนโลยีการจัดการข้อมูลแบบบล็อกเชน (Blockchain Technology) เพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือ สร้างความโปร่งใส ทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจในข้อมูลแหล่งที่มาของวัตถุดิบว่ามาจากแหล่งที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า
ขณะเดียวกัน ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของซีพีเอฟ จะต้องเข้ามาลงทะเบียนยืนยันตัวตน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร หรือ พ่อค้าผู้รวบรวมผลผลิต โดยเกษตรกรนอกจากจะต้องยืนยันตัวตนแล้ว ยังจะต้องยืนยันพื้นที่เพาะปลูกของตนเอง โดยใช้หลักฐานเป็นสมุดทะเบียนเกษตรกร ซึ่งในสมุดทะเบียนจะระบุรายละเอียดจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งเชื่อถือได้
นอกจากนี้ ทุกๆ ครั้งที่เกษตรกรหรือพ่อค้าคนกลางมีการซื้อขายผลผลิตข้าวโพด จะต้องเข้าไปทำรายการในระบบ เพื่อให้ระบบมีการบันทึกเส้นทางการไหลและปริมาณการไหลของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยการลงทะเบียนและการทำรายการในระบบ สามารถทำผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับที่กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ FIT ได้พัฒนาขึ้นบนเว็บไซต์ ที่ชื่อว่า https://traceability.fit-cpgroup.com/signi และปัจจุบัน ผู้ใช้งานมีช่องทางที่สะดวกมากขึ้น โดยสามารถละทะเบียนยืนยันตัวตนได้ ทางช่องทางไลน์ (Line) ,กูเกิล (Google) หรือเบอร์โทรศัพท์
นายวรพจน์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ความมุ่งมั่นในการจัดหาวัตถุดิบหลักทางการเกษตรด้วยความรับผิดชอบ ตามนโยบายการจัดหายั่งยืนของซีพีเอฟ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหาร และยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรเพาะปลูกบนพื้นที่ปลูกที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งส่งเสริมคู่ค้าธุรกิจปฏิบัติตามระบบการตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างต่อเนื่องและเติบโตไปด้วยกัน มีส่วนร่วมในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อรักษาสมดุลระบบนิเวศ ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของการผลิตอาหาร
นโยบายการจัดหายั่งยืนของซีพีเอฟ ด้วยการรับซื้อข้าวโพดจากแหล่งที่ไม่ตัดไม้ทำลายป่า100% สอดรับตามเป้าหมายของซีพีเอฟที่ประกาศนโยบายต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่า เป็นอีกส่วนสำคัญในการก้าวสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net-Zero) และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals :SDGs) ในประเด็น ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน (ข้อ 2) ประเด็นการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น(ข้อ 13) และ การปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (ข้อ 15)