ผู้นำทุกระดับ ประสานเสียง ปราบโกงยุคดิจิทัล ต้องผนึกประชาชนให้มีส่วนร่วม “ชัชชาติ” หนุนใช้ ACT Ai เป็นเครื่องมือ ให้ประชาชนตรวจสอบการโกง
เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดกิจกรรมวันต่อต้านคอร์รัปชัน ประจำปี 2565 โดยได้รับเกียรติจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้นำระดับจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เข้าร่วม เสวนา “ผู้นำ...กับการปราบโกง” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองถึงความสำคัญของบทบาทผู้นำต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน โดย นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันขับเคลื่อนการต้านโกงมากว่า 11 ปี ได้รับความร่วมมือจากองค์กรสมาชิกและเครือข่ายทุกภาคส่วนผลักดันการแก้ปัญหาคอร์รัปชันมาต่อเนื่อง ปีนี้เราให้ความสำคัญกับผู้นำ เพราะผู้นำคือคนสำคัญที่สุดในการปราบคอร์รัปชัน ผู้นำที่ดีต้องกล้าตัดสินใจ มีความโปร่งใส มีแนวคิดและแนวปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเพื่อเป็น “ต้นแบบ” สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชาและประชาชน อย่างไรก็ตาม ปัญหาคอร์รัปชันยังคงสร้างความทุกข์ให้กับสังคม ทุกองค์กรทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันให้ความสำคัญและร่วมให้กำลังใจกับผู้นำเพื่อร่วมสู้โกงไปด้วยกัน บนความเชื่อ ความหวัง และความไว้วางใจซึ่งกันและกัน จะเป็นพลังช่วยขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ต่อไป
ขณะเดียวกัน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ร่วมเสวนาผ่านวิดีโอคลิปพร้อมกล่าวถึงบทบาทของผู้นำว่า จากการสำรวจแม้จะมีระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์มาคุมกรอบเวลาการใช้งบประมาณ หรือการใช้การประกวดราคาอิเล็กทรอกนิกส์หรือ e-bidding ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแต่ก็ยังเกิดการคอร์รัปชัน หากจะแก้ไขปัญหาเราต้องให้ความสำคัญกับการจัดระบบงาน และ ระบบคน ต้องสร้างให้มี Code of Conduct ทำงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และผู้นำจะต้องทำตัวเป็นแบบอย่าง เพื่อสร้างสำนึกในการทำงานอย่างสำคัญ
ส่วน รศ.ดร.ชัชชาติ ระบุตอนหนึ่งว่า ปัญหาคอร์รัปชันมักจะเกิดจากแผลเล็ก ๆ และลามกลายเป็นบาดทะยัก ตัวผู้นำเป็นต้นแบบสำคัญ คือ 1.ผู้นำ จะเป็นต้นตอของปัญหาถ้าผู้นำดี คอร์รัปชันจะไม่มี ตนจำแนกผู้นำออกเป็น 3 แบบ ระดับศูนย์คือโกงกินด้วยตนเองซื้อขายตำแหน่ง ระดับหนึ่งผู้นำไม่โกงแต่ปล่อยลูกน้องโกง ระดับสองไม่เอาจริงเอาจังเป็นแค่ผู้นำสโลแกน 2. ภาคีเครือข่าย ต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม อย่างในกทม.นำแพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหา หรือ ทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) มาใช้ ตอนนี้มีร้องเรียนมากว่า 130,000 เรื่อง แก้ไขแล้ว 70,000 เรื่อง ถ้าประชาชนมีช่องทางแจ้งข้อมูลเขาจะกลายเป็นเครือข่ายการทำงานให้เราได้ และ 3.การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยเฉพาะการเสริมอำนาจให้ประชาชนมีเครื่องมือตรวจสอบ อย่างการนำ ACT Ai มาใช้ จะทำให้การแก้ไขทุจริตเป็นรูปธรรมมากขึ้น ที่สำคัญผู้นำจะต้องรู้ว่าองค์กรของตัวเองมีคอร์รัปชันอยู่จุดไหน เมื่อรู้แล้วจะต้องเป็นผู้นำให้เกิดการแก้ปัญหาให้ได้
ทางด้าน นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า ผู้นำต้องส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ (Open Data) เพื่อสร้างความเข้าใจและร่วมตรวจสอบ กระตุ้นให้ประชาชนเป็นพลเมืองตื่นรู้ หรือ Active Citizen รวมทั้งผลักดันให้สังคมสร้างวัฒนธรรมใหม่ต่อมุมมองของผู้นำ เน้นการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมอย่างคุ้มค่ามากกว่าการทำเพื่อบางคนบางกลุ่มเท่านั้น สอดคล้องกับ นางสาวเพ็ญภัค รัตนคำฟู นายกเทศมนตรีตำบลเกาะคา จังหวัดลำปาง ที่สนับสนุนแนวคิดให้ผู้นำต้องสร้างความเชื่อใจ โดยบอกว่า เมื่อประชาชนไว้ใจจะเกิดการมีส่วนร่วมตามมา เป็นการเมืองภาคประชาชนที่ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ขณะเดียวกัน นายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวตอนหนึ่งว่า การแก้กฎเกณฑ์การบริหารราชการให้ความสำคัญกับการบริการประชาชนเป็นอีกเรื่องที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญ พร้อมกับการส่งเสริมบทบาทผู้นำให้ทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน
นอกจากนี้ ในการบริหารราชการระดับจังหวัด นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ระบุว่า จังหวัดฉะเชิงเทรามุ่งบริหาร 3 มิติ ประกอบด้วย 1.บ้านเมืองต้องสะอาด ทั้งภูมิทัศน์และความสะอาดของสถานที่ 2.คนต้องสะอาด คือ ทั้งผู้นำและข้าราชการต้องทำงานด้วยความโปร่งใส 3.แผ่นดินสะอาด คือ การสร้าง “บวร” ให้มีส่วนร่วม “บ้าน-วัด-ราชการ” เพื่อสร้างชุมชนให้น่าอยู่และปลอดการโกงกิน มีการนำโครงการข้อตกลงคุณธรรม (IP) และข้อมูลการตรวจสอบการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) มาใช้ทำให้เกิดความคุ้มค่าอย่างสูงสุด ส่วน นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ย้ำว่า เมื่อผู้นำทำงานเป็นทีมกับข้าราชการและประชาชน ได้พิสูจน์ให้เห็นจากโครงการการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) พบว่าคะแนนของภูเก็ตดีขึ้นมาอยู่ในระดับ AA ซึ่งมาจากผู้นำประกาศเป็นพันธะสัญญาอย่างชัดเจนและสร้างการมีส่วนร่วมในการทำงานกับประชาชนด้วย
ด้าน ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค กรรมการบริหารองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ในฐานะผู้ดูแล ACT Ai กล่าวว่า ACT Ai เป็นฐานข้อมูลต้านโกงขนาดใหญ่เกิดจากการผนึกกำลังของเครือข่ายสมาชิกเพื่อรวบรวมข้อมูลภาครัฐให้ประชาชนได้ใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบ ที่ผ่านมามีผู้เข้าใช้งานกว่า 6 หมื่นคน และยังคงพัฒนา อย่างต่อเนื่องจากการเข้ามามีส่วนร่วมของกลุ่มคนที่หลากหลายวัย หลายไอเดีย เกิดเป็นโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ อาทิ “ทีมกินยกแก๊งค์” คิดเครื่องมือที่เชื่อมโยงการโกงแบบเครือข่ายของนักการเมืองพัฒนาต่อเป็นแดชบอร์ดความสัมพันธ์การโกง หรือไอเดียจาก “ทีมขิงบ้านเรา”ในโครงการผ่างบเมืองที่รวมข้อมูลงบประมาณในท้องถิ่น เพื่อตรวจสอบความเสี่ยงการใช้งบ และยังสร้างโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมแบ่งปันข้อมูลไปด้วยกัน อีกทั้งโครงการตรวจสอบใช้งบในโรงเรียนด้วย School Governance และยังรวมถึงแพลตฟอร์มแจ้งเบาะแสเหตุสงสัยทุจริตคอร์รัปชันผ่าน LINE OA : จับตาไม่ให้ใครโกง Corruption Watch (@corruptionwatch) และ Voice of Change เครื่องมือรับแจ้งเบาะแสการทุจริตสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น วันนี้ ACT Ai จึงพร้อมเป็นเครื่องมือให้ประชาชนเข้ามาใช้งานเพื่อการปราบโกงไปด้วยกัน
สำหรับในปีนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันผนึกกำลังร่วมกับองค์กรสมาชิกจัดกิจกรรม วันต่อต้านคอร์รัปชัน ประจำปี 2565 ณ ลานเวทีใหญ่ ชั้น M สถานีกลางบางซื่อ โดยกำหนดแนวคิดในการจัดงาน “ผู้นำ...กับการปราบโกง” ซึ่งภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมแสดงพลังของหน่วยงานภาคเอกชนชั้นนำในประเทศไทย เพื่อแสดงออกถึงการไม่ยอมรับการคอร์รัปชันในทุกรูปแบบอย่างพร้อมเพรียงและมีพลังอีกด้วย.