สสส. จับมือ นักวิจัยมหิดล มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ชูสมุนไพร “กานพลู น้ำมันหอมระเหยพริกไทยดำ” ตัวช่วยลด ละ เลิกบุหรี่ ได้มากกว่า 90% ทำให้ปากชา รสชาติเปลี่ยนไม่อยากสูบ
วันที่ 4 ก.ย. รศ.ดร.มณฑา เก่งการพานิช นักวิจัยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในโครงการวิจัยการค้นหาทางเลือกในการช่วยเลิกบุหรี่ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน พบว่า ปัจจุบันมีผู้ติดบุหรี่จำนวนมากอยากเลิกบุหรี่ และต้องการตัวช่วย โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผู้สูบบุหรี่เป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะหากผู้สูบบุหรี่ติดโควิด-19 จะยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอาการปอดอักเสบอย่างรุนแรงได้ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีสมุนไพรหลายชนิดที่สามารถนำมาใช้ในการช่วยเลิกบุหรี่ได้ ตนและทีมวิจัย จึงได้ศึกษาวิจัยและผลิตยาอมลูกกลอนกานพลู และยาดมน้ำพริกไทยดำ มีสรรพคุณช่วยเลิกบุหรี่และสะดวกในการใช้งาน เพื่อเป็นตัวช่วยในการเลิกบุหรี่อย่างจริงจังอีกทางหนึ่ง ช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ ปัญหาสุขภาพ และความสูญเสียทางเศรษฐกิจของไทยได้
“ปัจจุบันโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มีเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีความรู้ความเข้าใจและทักษะการช่วยเลิกบุหรี่ด้วยสมุนไพรมากขึ้น และมีเจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทยในระดับตำบลจำนวนมาก ดังนั้น ผู้ที่สนใจอยากจะเลิกบุหรี่ สามารถขอคำแนะนำหรือรับบริการได้ที่ รพ.สต. โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน และสายเลิกบุหรี่ 1600 หรือติดต่อข้อมูลโดยตรง โทร 089-7777043 หรืออีเมล์ [email protected]” รศ.ดร.มณฑา กล่าว
ภกญ.ดร.สุภาพร ปิติพร มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในทีมวิจัย ได้ร่วมค้นหาสมุนไพรทางเลือก เพื่อผลิตให้อยู่ในรูปแบบที่ใช้งานง่าย ลูกอมกานพลูเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเลิกบุหรี่ เพราะมีสารฟีโนลิกในปริมาณมาก มีสรรพคุณช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย รักษาโรครำมะนาด แก้ปวดฟัน ระงับกลิ่นปาก ทำให้ปากชา ไม่อยากอาหาร และยังมีสรรพคุณระงับอาการปวด แก้ท้องอืดเฟ้อได้อีกด้วย ที่ผ่านมาพบว่ามีการใช้กานพลูในการช่วยเลิกบุหรี่โดยการให้อมดอกแห้ง ดังนั้น การทำเป็นลูกกลอนจะทำให้อมได้ง่ายขึ้นและควบคุมปริมาณการใช้ที่ปลอดภัยไม่ระคายเคืองต่อช่องปากอีกด้วย ส่วนพริกไทยดำ นำมาสกัดทำยาดมและยาดมน้ำ มีสารฟีนอลิกและสารพิเพอรีน ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบรรเทาอาการไอมีเสมหะและคัดจมูก เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียตามธรรมชาติ ช่วยแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยให้นอนหลับและช่วยให้เลิกบุหรี่ได้
“จากการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบประสิทธิผลของสมุนไพรเหล่านี้กับยาอมหญ้าดอกขาว ที่นำมาใช้ในการช่วยเลิกบุหรี่อย่างกว้างขวาง โดยให้กลุ่มผู้สูบบุหรี่อมยาหรือดมยาเมื่อมีอาการอยากบุหรี่ พบว่าสมุนไพรทั้ง 2 ชนิดนี้ ช่วยลดละเลิกบุหรี่ได้กว่า 90% (เลิกได้ 11.2% และลดได้ 81.5%) ผู้สูบบุหรี่ที่ใช้ยาอมกานพลู ระบุว่า ทำให้ปากชาและทำให้รสชาติบุหรี่เปลี่ยน จึงรู้สึกไม่อยากสูบบุหรี่ สำหรับยาดมพริกไทยดำ ระบุว่า ทำให้รสชาติบุหรี่เปลี่ยนไปและมีอาการมึนเวลาสูบ จนทำให้ไม่รู้สึกอยากสูบบุหรี่เช่นกัน” ภกญ.ดร.สุภาพร
ภกญ.ดร.สุภาพร กล่าวต่อว่า งานวิจัยชิ้นนี้มีข้อค้นพบว่า ผู้สูบบุหรี่มีความชอบในสมุนไพรช่วยเลิกบุหรี่แตกต่างกันตามลักษณะบุคคลและภูมิภาค ดังนั้น การมีสมุนไพรทางเลือกที่หลากหลายและง่ายต่อการเข้าถึงจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการส่งเสริมการเลิกบุหรี่ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังพบว่า นอกเหนือจากสมุนไพรที่เป็นตัวช่วยให้เลิกบุหรี่ได้แล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เลิกบุหรี่สำเร็จคือ ความตั้งใจของตัวผู้สูบบุหรี่เอง การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดจนการติดตามกระตุ้นอย่างต่อเนื่องของเจ้าหน้าที่ และ อสม. ล้วนมีส่วนทำให้ผู้สูบบุหรี่เลิกได้สำเร็จต่างกัน