อัพเดทมาตรการเร่งด่วนด้านพลังงาน ก.ค. - ก.ย. 65 ดีเซลใช้ฐาน 35 บาท/ลิตรเป็นเกณฑ์ รัฐหนุนช่วย 50%ของราคาที่เกินเกณฑ์
ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงมีความผันผวนอยู่ในทิศทางขาขึ้นจากราคาพลังงานโลกตั้งแต่ปลายปี 2564 และความขัดแย้งของประเทศรัสเซียกับประเทศยูเครนที่ยืดเยื้อถึงปัจจุบัน ซึ่งหลายสำนักเศรษฐกิจก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่า ความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะสู่จุดสมดุลได้เมื่อใด ประเทศไทยมีมาตรการด้านพลังงานช่วยเหลือประชาชนเป็นช่วงๆ เพื่อประเมินสถานการณ์ด้านพลังงานในระยะสั้น โดยเฉพาะการเข้าช่วยเหลือกลุ่มน้ำมันดีเซลที่ดำเนินการมาเป็นระลอกผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
ล่าสุด มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ได้ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เกี่ยวกับด้านพลังงาน โดยขยายมาตรการที่กำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน 2565 ออกไปเป็นระยะเวลา 3 เดือน และมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางผู้มีรายได้น้อย
การขยายระยะเวลาของมาตรการเดิมที่จะสิ้นสุดมิถุนายน 2565 ออกไป 3 เดือน ประกอบด้วย
- ตรึงราคาขายปลีก NGV 15.59 บาท/กก. และโครงการเอ็นจีวี เพื่อลมหายใจเดียวกัน สำหรับแท๊กซี่ 13.62 บาท/กก. (16 มิ.ย. – 15 ก.ย. 65)
- กำหนดกรอบราคาขายปลีก LPG ประมาณ 408 บาท/ถังขนาด 15 กก. ระยะเวลา 3 เดือน (ก.ค - ก.ย.65)
- ขยายเวลาส่วนลด LPG ร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่เกิน 100 บาท/ราย/เดือน และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนลด 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน (ก.ค. - ก.ย. 65)
- อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลร้อยละ 50 ในส่วนที่ราคาขายสูงกว่า 35 บาท/ลิตร (ก.ค. - ก.ย. 65) โดยใช้กลไกบริหารราคาผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและภาษีสรรพสามิต
มาตรการเพิ่มเติม ในการดูแลราคาน้ำมันดีเซล เบนซิน และ LPG ระยะเวลา 3 เดือน
- ขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดดีเซลไม่เกิน 1.40 บาท/ลิตร
- ขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน และโรงแยกก๊าซธรรมชาตินำส่งกำไรส่วนหนึ่งจากค่าการกลั่นเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยนำเงินที่ได้ลดภาระชดเชยราคาดีเซลของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเงินในส่วนเบนซินนำไปลดราคาขายปลีก แต่มาตรการนี้อยู่ระหว่างการหารือยังไม่ได้ข้อสรุป
ส่วนโรงแยกก๊าซฯ ขอความร่วมมือ บมจ.ปตท.นำกำไรส่วนหนึ่งส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คาดจะจัดเก็บได้ราว 500 - 1,000 ล้านบาท/เดือน ระยะเวลา 1 ก.ค. – 30 ก.ย 65 นอกจากนี้ มาตรการที่สำคัญที่ต้องทำคู่ขนานกันไปคือ การมุ่งเน้นสู่การประหยัดพลังงานทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชนและอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และหน่วยงานราชการ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะหน่วยงานราชการที่รัฐตั้งเป้าหมายการลดการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงลงร้อยละ 20 และให้การลดใช้พลังงานร้อยละ 20 เป็น KPI ของส่วนราชการอีกด้วย
ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า ในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานขณะนี้ ลำพังมาตรการของรัฐที่ออกมาช่วยเหลือราคาพลังงานภายในประเทศคงจะช่วยบรรเทาผลกระทบได้บางส่วนเท่านั้น แต่สิ่งที่ผู้ใช้พลังงานทุกคนจะทำได้ และทำได้ทันทีคือ การลดใช้พลังงาน การใช้พลังงานอย่างประหยัด เพื่อเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่ง How To หรือวิธีประหยัดพลังงาน ก็มีทางเลือกมากมายที่สามารถทำได้แบบใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน