กลุ่มบางจากฯ ร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ มุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050 ด้วยแผน 'BCP NET' เร่งศึกษา Blue Carbon สนับสนุนเกาะหมาก Low Carbon เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยโมเดล Bangchak WOW
จากเป้าหมาย 'Net Zero' หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ที่ประเทศและองค์กรต่างๆ ได้ประกาศเพื่อร่วมบรรเทาภาวะโลกร้อน โดยประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมาย Net Zero ในปี 2065 นั้น กลุ่มบางจากฯ ซึ่งได้ประกาศเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนในปีค.ศ. 2030 และ Net Zero ในปีค.ศ. 2050 มีความมุ่งมั่นเดินหน้าร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำด้วยแผน BCP NET โดยล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือพัฒนาพื้นที่และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสู่ Low Carbon Destinationหมู่เกาะหมาก อ.เกาะกูด จ.ตราด ร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก วิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านอ่าวนิด โดยมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมเป็นพยาน เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องด้วยโมเดล Bangchak WOW
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท บางจากฯ กล่าวว่า “วิกฤติโลกร้อนเป็นเรื่องที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าวิกฤติเศรษฐกิจ จากการไปเข้าร่วมประชุม World Economic Forum 2022 เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เรื่องหลัก ๆ ที่ผู้นำระดับโลกหารือกันมีอยู่ 3 เรื่อง คือปัญหาด้านพลังงานที่เกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และผลกระทบที่จะตามมาคือการขาดแคลนอาหาร และภาวะเงินเฟ้อ นอกจากนี้ก็ยังมีการให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) สู่พลังงานสะอาด โดยมีปัจจัยสำคัญคือ Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งกลุ่มบางจากฯ พร้อมที่จะร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งสู่สังคม คาร์บอนต่ำ ด้วยการกำหนดแผน BCP NET ครอบคลุม 4 แนวทาง เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2030 และ Net Zero ในปี 2050 ขององค์กร โดยเน้นกระบวนการที่จับต้องได้และสามารถหวังผลในระยะยาวดังนี้
B = Breakthrough Performance เน้นกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง การปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน ปล่อยคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่นการใช้เทคโนโลยีและเชื้อเพลิงที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิตในโรงกลั่นน้ำมันบางจาก การเปิดสถานีบริการ Net Zero การใช้ไฟฟ้าจากระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่) ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบีซีพีจี เป็นต้น
C = Conserving Nature and Society สนับสนุนการสร้างสมดุลทางระบบนิเวศและเชื่อมโยงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านการดูดซับคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติ มุ่งเน้นพัฒนากิจกรรมเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับคาร์บอนจาก 2 ระบบนิเวศ ได้แก่ 1) ระบบนิเวศจากป่า (Green Carbon) เช่นโครงการปลูกป่ากับกรมป่าไม้ โครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯและปลูกต้นไม้ในพื้นที่ปฏิบัติการทั่วประเทศ เช่น โครงการปลูกป่าในโรงไฟฟ้าของบีซีพีจี เป็นต้น และ 2) ระบบนิเวศทางทะเล (Blue Carbon) จากแหล่งป่าชายเลนและหญ้าทะเล เช่น โครงการปลูกป่าชายเลนร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โครงการสนับสนุนคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แหล่งหญ้าทะเลเพื่อช่วยในการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในแนวปะการังบริเวณเกาะหมากและเกาะกระดาด จังหวัดตราด เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพในการประเมินคาร์บอนเครดิต โดยเป็นการร่วมมือกับพันธมิตรหน่วยงานต่าง ๆ ในหลากหลายมิติเพื่อลดรอยเท้าคาร์บอนและลดการสร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อม
P = Proactive Business Growth and Transition เปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่พลังงานสะอาด มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ด้วยเทคโนโลยีเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจสีเขียว เน้นขยายการลงทุน
ใหม่ ๆ ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจ ศึกษาเทคโนโลยีตอบโจทย์ธุรกิจคาร์บอนต่ำ เช่น Blue/Green Hydrogen เชื้อเพลิงทางเลือกคาร์บอนต่ำ เช่น เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนหรือ Sustainable Aviation Fuel (SAF) หรือน้ำมันกรีนดีเซล Green Diesel เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) และธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมสร้างวัฒนธรรมคาร์บอนต่ำ โดยในปัจจุบันสัดส่วนของธุรกิจสีเขียวคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของ EBITDA ของกลุ่มบางจากฯ ซึ่งประมาณการว่าสัดส่วนธุรกิจสีเขียวจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างน้อย 50% ในปี 2030
NET = Net Zero Ecosystem สร้างระบบนิเวศเพื่อรองรับการไปสู่เป้าหมาย Net Zero อาทิ การดำเนินธุรกิจขนส่งเชื้อเพลิงโดยบริษัท BFPL การให้บริการและจำหน่ายเชื้อเพลิงทางเลือกคาร์บอนต่ำ การจัดทำแพลตฟอร์มให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie การก่อตั้ง Carbon Markets Club เพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต การร่วมก่อตั้ง Syn Bio Consortium การสร้างวัฒนธรรมคาร์บอนต่ำในองค์กรผ่านโครงการรณรงค์ต่าง ๆ เช่น ‘Bangchak100x Climate Action ทุกคนช่วยได้’ ไปจนถึงโครงการรณรงค์ลดขยะกับลูกค้าและผู้บริโภค เช่น ‘แก้วเพาะกล้า’ ‘รักษ์ ปัน สุข’ และ ‘ขยะกำพร้าสัญจร’ ฯลฯ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการให้ความรู้และสื่อสารกับผู้ที่มีส่วนได้เสียทางธุรกิจ เช่นซัพพลายเออร์ นำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน (sustainable supply chain) โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง
นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการลงนามข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาพื้นที่เกาะหมากสู่เป้าหมายการเป็น Low Carbon Destination ในครั้งนี้ กลุ่มบางจากฯ มีความยินดีที่จะร่วมสนับสนุนพื้นที่เกาะหมากซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายแห่งแรกในโครงการแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำของประเทศไทยที่ อพท. เป็นผู้ริเริ่มการขับเคลื่อน ผนวกกับการใส่ใจดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังจากชุมชนท้องถิ่น ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบของประเทศในการร่วมบรรเทาภาวะวิกฤติของโลกด้านสภาพภูมิอากาศ โดยการสนับสนุนคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการศึกษา Blue Carbon จากการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังภาคตะวันออกเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งการดูดซับคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติจากหญ้าทะเลนี้ กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทั่วโลก โดยข้อมูลของ IUCN (International Union for Conservation of Nature) เมื่อปีที่แล้ว รายงานว่าหญ้าทะเลเป็นพืชกลุ่มเดียวที่อยู่ในทะเลเต็มตัวจึงมีความสามารถเฉพาะตัวในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบนบกถึง 7-10 เท่า
นอกจากนี้ กลุ่มบางจากฯ ยังมีภารกิจอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ อาทิ การนำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie ไปให้ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ได้ทดลองใช้เพื่อศึกษาความเหมาะสมผ่าน อบต. เกาะหมาก รวมถึงสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เช่นถุงมือและเสื้อที่ผลิตจากขวด PET รีไซเคิลมอบให้ทีมอาสาสมัคร Trash Heroes Koh Mak สำหรับเก็บขยะชายหาด และทีมงานวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านอ่าวนิด ใช้สำหรับกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเล รวมถึงมีการศึกษาความเป็นไปได้ของความร่วมมืออื่น ๆ เช่น โรงเรียน Net Zero จากการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เป็นต้น
สำหรับผู้ร่วมลงนามได้แก่ นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทบางจากฯ นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุริยัน ธัญกิจจานุกิจ คณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ นายนพดล สุทธิธนกูล ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านอ่าวนิด อ. เกาะกูด จ. ตราด และ นายนล สุวัจนานนท์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก โดยมี นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ให้เกียรติเป็นพยานในการลงนามดังกล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุริยัน ธัญกิจจานุกิจ คณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า โครงการ Blue Carbon ในแหล่งหญ้าทะเล เกาะหมาก-เกาะกระดาด นำทีมโดยผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ เริ่มทำการสำรวจโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งการแปลข้อมูลดาวเทียมและการใช้โดรนรูปแบบต่าง ๆ สำรวจทางอากาศ พร้อมกับการสำรวจภาคสนามและการดำน้ำประเมินศักยภาพของพื้นที่ โดยสำรวจทั้งหมด 8 แหล่งทั่วเกาะหมาก/เกาะกระดาด จัดระดับตามศักยภาพเป็น 3 กลุ่มหลัก 5 กลุ่มย่อย โดยมีแหล่งหญ้าทะเลบริเวณด้านตะวันตกของเกาะกระดาด ได้รับการประเมินว่ามีศักยภาพสูงสุดในด้าน Blue Carbon คณะผู้วิจัยจึงทำการสำรวจในรายละเอียด โดยทำแผนที่การแพร่กระจายของหญ้าทะเลทั้งหมด 4 ชนิดที่พบในพื้นที่นี้ รวมถึงแหล่งสาหร่ายขนาดใหญ่ เช่น สาหร่ายซากัสซั่ม สาหร่ายพวงองุ่น ปะการัง ฯลฯ จากนั้นจึงเจาะสำรวจคาร์บอนที่สะสมอยู่ใต้พื้นท้องทะเล โดยใช้วิธีตามมาตรฐานสากล สามารถเปรียบเทียบกับผลการศึกษานานาชาติได้ (IUCN, 2021)
“ผลการสำรวจพบว่า แหล่งหญ้าทะเลมีความซับซ้อนมาก คาดว่ามีการสะสมคาร์บอนได้เป็นอย่างดีแต่จำเป็นต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ในรายละเอียด นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับข้อมูลในอดีต พบว่าแหล่งหญ้าทะเลมีความเสถียรสูงมาก ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยยะจากมนุษย์ แสดงถึงการดูแลรักษาทะเลในพื้นที่ของประชาชนเกาะหมากที่ทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สภาพความสมบูรณ์เช่นนี้มีประโยชน์ในด้านการกักเก็บคาร์บอนในระยะยาว อันจะมีส่วนสำคัญต่อแผนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังพบว่าแหล่งหญ้าทะเลมีความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำสูงมาก ทั้งปูม้า หอยจอบ ปลาชนิดต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 20 ชนิด ที่ช่วยสนับสนุนอาชีพประมงพื้นบ้านและการท่องเที่ยวในพื้นที่ ทั้งนี้ การดำเนินงานขั้นต่อไป จะวิเคราะห์ข้อมูลดูดซับ/กักเก็บคาร์บอน และทำการสำรวจเพิ่มเติม ตลอดจนวางแผนในการปลูกหญ้าทะเลโดยใช้เทคนิควิธีการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและรบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด”
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า อพท. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่มีภาคเอกชน เช่น บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ให้เกียรติเข้ามามีส่วนร่วมให้การสนับสนุนการดำเนินงานของ อพท.ที่ต้องการผลักดัน“เกาะหมาก” จังหวัดตราด พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในความดูแลของ อพท. ให้ยกระดับขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม หรือ โลว์คาร์บอนเดสติเนชั่น (Low Carbon Destination) ด้วยการลดการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมภาคการท่องเที่ยวให้น้อยกว่าแหล่งท่องเที่ยวโดยทั่วไป และยกระดับให้เกาะหมากเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ Circular Economy มีแผนจัดการขยะการท่องเที่ยวของประเทศไทย
“สิ่งที่ อพท. กำลังดำเนินการที่เกาะหมากคือ ทำอย่างไรให้การปล่อยคาร์บอนจากภาคการท่องเที่ยวมีปริมาณที่ลดลง รวมไปถึงการหากิจกรรมการท่องเที่ยวที่จะช่วยดูดซับคาร์บอน เพื่อที่จะชดเชยคาร์บอนที่ถูกปล่อยจากกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะหมาก โดยใช้หลักคิดแบบตรงไปตรงมาว่าคาร์บอนถูกปล่อยที่ไหน ก็หากิจกรรมเพื่อดูดซับคาร์บอนที่นั่นเป็นลำดับแรก”
สำหรับความร่วมมือกับ บริษัท บางจากฯ และ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขับเคลื่อนโครงการ Blue Carbon ในแหล่งหญ้าทะเล เกาะหมาก-เกาะกระดาด นับเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญมากเพราะหญ้าทะเลมีความสามารถเฉพาะตัวในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบนบกถึง 7-10 เท่า หากสามารถเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และขยายพื้นที่ของหญ้าทะเลให้มีปริมาณมากขึ้น จะเป็นผลดีต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศของเกาะหมาก อีกทั้งหญ้าทะเลจะช่วยดูดซับและชดเชยคาร์บอนได้ดีอีกด้วย
การทำงานตามแนวทาง Circular Economy หรือ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่รู้จบ อพท. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ 'การจัดการขยะภาคการท่องเที่ยวบนเกาะหมาก' เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการขยะบนเกาะหมากอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยหลักคิดที่เริ่มจากลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่จะก่อให้เกิดเป็นขยะ และมีการบริหารจัดการขยะบนเกาะโดยเน้นการนำมาหมุนเวียนเพื่อการใช้ประโยชน์ให้ยาวนานที่สุด และสุดท้ายคือการเข้าสู่กระบวนการกำจัดอย่างถูกวิธี ด้วยเป้าหมายการผลักดันเกาะหมากขึ้นเป็นพื้นที่ต้นแบบการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
นายชัยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสนับสนุนเกาะหมาก Low Carbon นี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ และชุมชนในท้องถิ่นดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งในพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่มบริษัทฯ และพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศด้วยโมเดล Bangchak WOW (Well Being Improvement/Oxygen Enhancement /Water Management) โดยมีการร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิต (W - Well Being Improvement) ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการประกอบอาชีพ โครงการส่งเสริมการจ้างงานในสถานีบริการและร้านกาแฟอินทนิล โครงการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน เช่น ครัวชุมชน ตลาดปันสุข คุณแจ๋วคลีนเซอร์วิส โครงการบางจากปันน้ำใจ สู้ภัยโควิด-19 ที่จัดทำขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขมากว่า 2 ปี รวมถึงโครงการการจัดการขยะ และการขยายช่องทางกระจายสินค้าชุมชนผ่านสถานีบริการและร้านกาแฟอินทนิล ฯลฯ
ส่วน O - Oxygen Enhancement (การปรับปรุงคุณภาพอากาศ) เป็นการให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ร่วมดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น โครงการต้นไม้ของคุณ เพื่อโลกของเรา ที่นำต้นไม้เสมือน (Virtual Trees) จากการเติมน้ำมันของสมาชิกในแอปพลิเคชันบางจากไปปลูกและอนุรักษ์ในพื้นที่จริง โครงการปลูกเพื่อป(ล)อดล้านต้น ลด PM 2.5 โครงการปลูกป่าในใจคนตามศาสตร์พระราชา และโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สีเขียวร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาและกรมป่าไม้ในโครงการ OUR คุ้งบางกะเจ้า เป็นต้น และยังให้ความสำคัญกับการประเมินและลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ขององค์กร การจัดการของเสียด้วยวิธีการฝังกลบเป็นศูนย์ รวมถึงการผลิตน้ำมันลดฝุ่นหรือน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ มาตรฐานระดับยูโร 5 เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ในช่วงปลายปี ฯลฯ ทั้งนี้ โรงกลั่นน้ำมันบางจากได้รับการรับรอง GI5 จากการประเมินตามมาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 5 (สูงสุด) โดยกระทรวงอุตสาหกรรม
“ในขณะที่ W - Water Management ให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำ ตัวอย่างเช่น โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ และมีการประเมินตามมาตรฐานวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ในโรงกลั่นน้ำมันบางจาก โครงการรับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้วเพื่อร่วมรักษาความสะอาดของแม่น้ำลำคลอง รวมถึงลดผลกระทบด้านสุขภาพจากการใช้น้ำมันพืชซ้ำ ล่าสุด กำลังดำเนินการโครงการคลองสวยน้ำใส เพื่อร่วมปรับปรุงคุณภาพคลองรอบโรงกลั่นน้ำมันบางจาก โดยความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและชุมชน อยู่ระหว่างการดำเนินจัดเตรียมแผนงานและการศึกษาข้อมูลเป้าหมาย จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2565 นี้” นายชัยวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย