เครือซีพี เดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจก ยกระดับงานพัฒนาชุมชนภาคเหนือ ดันโมเดลปุ๋ยชุมชน ‘ฮักษ์น้ำยม’ ผ่านการรับรอง โครงการ Less จาก อบก.
เครือเจริญโภคภัณฑ์มุ่งมั่นให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างต่อเนื่อง ด้วยโครงการต่างๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นรูปธรรมแบบยั่งยืน โดยความร่วมกับทุกภาคส่วน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนในปี 2030 ของเครือฯ ที่จะมุ่งสู่การเป็นองค์กร Carbon Neutral
จากปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อนที่ทั่วโลกกำลังประสบ เครือซีพี ได้ยกระดับการพัฒนางานชุมชนซึ่งสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ โดยพัฒนาโครงการปุ๋ยชุมชน บ้านดอนไชยป่าแขม ต.ออย อ.ปง จ.พะเยา ซึ่งนำทักษะที่ชุมชนมีด้านการทำปุ๋ยมาพัฒนาต่อยอดในการลดต้นทุนทางการเกษตร ได้ผนึกกำลังกับภาคีเครือข่าย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การบริหารส่วนตำบลออย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง และวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภาพ บ้านดอนไชยป่าแขม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
โดยในเดือนมีนาคม 2565 ได้รับการรับรองจากโครงการ Less ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก องค์การมหาชน (อบก.) เป็นหนึ่งในโมเดลที่ใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกลับมาหมุนเวียนใช้ซ้ำอีกครั้ง ซึ่งตั้งแต่ปี 2563 ได้รวบรวมแหล่งวัตถุดิบจากวัสดุทางการเกษตร นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ บ้านดอนไชยป่าแขม จำนวน 2,000 กก. และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,703 kgCO2eq คิดแล้ว ประมาณ 1.7 tCO2eq
นายนนท์ นาคะเสถียร ผู้จัดการทั่วไป หน่วยงานด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ สำนักบริหารความยั่งยืนธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า โครงการปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ บ้านดอนไชยป่าแขม จ.พะเยา เป็นโครงการที่สนับสนุนเรื่องการแปรรูปปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดต้นทุนทางการเกษตร โดยรวมกลุ่มการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ อีกทั้งยังสามารถเพิ่มอาชีพทางเลือกและรายได้ให้กับเกษตรกร ด้วยแนวคิด 5 ลด 1 เพิ่ม คือ ลดต้นทุน ลดการใช้สารเคมี ลดความเสี่ยงเรื่องสุขภาพ ลดปัญหาขยะชุมชน ลดปัญหาหมอกควันพิษจากการเผา และเพิ่มมูลค่า โดยปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพนี้มีส่วนผสมจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและมูลสัตว์ในพื้นที่เลี้ยงสัตว์ในชุมชน เช่น เปลือกข้าวโพด และมูลวัว ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 78 คน ตั้งเเต่ปี 2562 - 2565 ผลิตปุ๋ยได้ 55,925 กิโลกรัม และนำไปจำหน่วยให้กับเกษตรกรในพื้นที่เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนฯ จ.น่าน จ.พะเยา และ จ.เชียงใหม่ สามารถสร้างรายได้เพิ่มภายในกลุ่มได้ 283,135 บาท
โมเดลแปรรูปปุ๋ยเป็นวัสดุปรับปรุงดิน ได้มีการยกระดับสร้างตราสินค้าเพื่อสร้างความจดจำในชื่อ 'ฮักษ์น้ำยม' ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนกระบวนการจดเครื่องหมายการค้าเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้เครือซีพียังร่วมกับชุมชนโดยมีโครงการพัฒนาต่อเนื่องเพื่อสร้างป่าและสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรในบ้านดอนไชยป่าแขม จากเดิมที่ปลูกแต่พืชไร่เป็นหลัก อาทิ ข้าวโพด มันสําปะหลัง ยาสูบ ผักกาดเขียวปลี และถั่วแระญี่ปุ่น จึงได้เพิ่มโครงการส่งเสริมการสร้างป่า อาทิ การปลูกกาแฟ และไผ่ พืชเศรษฐกิจที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนต่อไป