ยูนิลีเวอร์-เอสซีจีซี ลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนด้วย หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ชูความสำเร็จของ 'โครงการแยกดี มีแต่ได้' การจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมของชุมชน รับวันสิ่งแวดล้อมโลก
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2565 ยูนิลีเวอร์-เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ เอสซีจีซี เผยถึงความคืบหน้าของโครงการ 'คุ้มค่า x ยูนิลีเวอร์ แยกดีมีแต่ได้' ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องเพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน โดยนำร่องที่เทศบาลเมืองใหม่บางบัวทอง จ.นนทบุรี สามารถบรรลุเป้าหมายในการคัดแยกพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนเป็นจำนวนมากกว่า 6,000 กิโลกรัมภายใน 1 ปี ผ่านกิจกรรมสร้างแรงจูงใจเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี พร้อมให้ความรู้เรื่องการคัดแยกพลาสติกใช้แล้ว สร้างความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการนำพลาสติกใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบเพื่อนำไปหมุนเวียน สร้างคุณค่าใหม่ ช่วยให้การรีไซเคิลมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ยูนิลีเวอร์ ร่วมกับ เอสซีจีซี ดำเนินโครงการ 'คุ้มค่า x ยูนิลีเวอร์ แยกดีมีแต่ได้' ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาขยะพลาสติก และสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในระดับมหภาค ให้เกิดความตระหนักเรื่องการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ช่วยลดปัญหาขยะในประเทศไทย และสร้างระบบการจัดการให้พลาสติกใช้แล้วได้กลับมาหมุนเวียนและรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางถือเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จ ทั้งนี้ ยูนิลีเวอร์ ได้ร่วมมือกับ เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ เอสซีจีซี นำร่องที่ธนาคารขยะเทศบาลเมืองใหม่บางบัวทอง จ.นนทบุรี โดยเชิญชวนสมาชิกของธนาคารขยะฯ จำนวนกว่า 17,000 คน ให้คัดแยกบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วในครัวเรือน ซึ่งจะนำไปบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหมุนเวียนกลับเข้าสู่ระบบเพื่อสร้างคุณค่าใหม่อย่างยั่งยืน โดยสมาชิกสามารถแลกรับผลิตภัณฑ์ยูนิลีเวอร์ฟรี
สำหรับพลาสติกใช้แล้วที่รวบรวม ได้แก่ 1) พลาสติกประเภท HDPE ซึ่งมีลักษณะใสขุ่นและขาวทึบ เช่น แกลลอนนมพาสเจอร์ไรซ์ แกลลอนน้ำยาปรับผ้านุ่ม แกลลอนน้ำยาล้างจาน ขวดแชมพู ขวดครีมนวดผม ซึ่งจะนำไปผ่านกระบวนการทำความสะอาดและปรับปรุงคุณสมบัติด้วยสูตรเฉพาะของเอสซีจีซี เป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality Post-Consumer Recycled Resin - PCR) สำหรับนำมาขึ้นรูปเป็นขวดบรรจุภัณฑ์ใหม่ และ 2) ซองบรรจุภัณฑ์พลาสติกหลายชั้น (Multilayer) เช่น ถุงน้ำยาปรับผ้านุ่ม ถุงน้ำยารีฟิลต่าง ๆ ซึ่งรีไซเคิลได้ยาก ถือเป็นขยะกำพร้า ที่ไม่มีมูลค่าในการซื้อขาย และยังไม่มีการกำจัดอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะถูกส่งไปทำเชื้อเพลิงสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม (Waste-to-energy) โดยความร่วมมือของบริษัท เอสซีไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการและโซลูชันการจัดการวัสดุเหลือทิ้ง
จากการดำเนินโครงการฯ ในระยะเวลา 1 ปี คือ ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2564 จนถึงปัจจุบัน สามารถบรรลุเป้าหมายในการรวบรวมพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือน มากกว่า 6,000 กิโลกรัม ได้แก่ พลาสติกประเภท HDPE จำนวน 100,931 ชิ้น และบรรจุภัณฑ์พลาสติกหลายชั้น (Multilayer) จำนวน 77,969 ชิ้น ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ทั้งสิ้น 5,756 kgCO2e เทียบเท่ากับการดูดซับก๊าซเรือนกระจกของต้นไม้ 480 ต้น นอกจากนี้ ยังสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชน 17,767 คน พร้อมสร้างรายได้เพิ่มให้แก่คนในชุมชนเทศบาลเมืองใหม่บางบัวทองเป็นจำนวน 49,970 บาท
นางณัฏฐิณี เนตรอำไพ ผู้จัดการอาวุโสส่วนองค์กร กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า “ดิฉันเชื่อว่าพลาสติกมีที่ของมัน และที่นั้นไม่ใช่ตามซอย ถนนหนทาง คลอง หรือแม่น้ำลำธาร ด้วยเหตุนี้ ยูนิลีเวอร์จึงได้ประกาศความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ของเราทั้งหมด 100% ให้สามารถรีไซเคิลได้ ใช้ซ้ำได้ หรือ ย่อยสลายได้ ลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ลงครึ่งหนึ่ง หรือ 1 แสนตันทั่วโลก และเรียกเก็บบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้ได้มากกว่าที่เราขาย ทั้งหมดนี้ ภายในปี พ.ศ. 2568 เพื่อให้พลาสติกใช้แล้วหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจและไม่หลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม ความสำเร็จของโครงการแยกดีมีแต่ได้ มาจากความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างกลุ่มพันธมิตรที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน อันได้แก่ ผู้ผลิตสินค้า ผู้รีไซเคิลและแปรรูปบรรจุภัณฑ์พลาสติก เทศบาล และชุมชน โดยไม่สามารถที่จะขาดผู้เล่นใดผู้เล่นหนึ่งได้เลย อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น การปกป้องโลกใบนี้ของเราจะต้องมาจากความพยายามของพวกเราทุกคน ที่จะเปลี่ยนแปลงพลาสติกใช้แล้วให้กลายเป็นทรัพยากรหมุนเวียนไม่รู้จบ”
นายกฤษดา เรืองโชติวิทย์ Head of ESG office บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจีซี กล่าวว่า “เอสซีจีซี ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน และตอบโจทย์ ESG (Environmental, Social and Governance) ซึ่งนอกจากการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนไปพัฒนานวัตกรรมพลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ การจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างครบวงจร โดยคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เริ่มจากการปลูกจิตสำนึก ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการคัดแยกขยะ และที่สำคัญ คือ การสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และแสดงตัวอย่างให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับ ‘โครงการแยกดี มีแต่ได้’ ที่ธนาคารขยะชุมชนเทศบาลเมืองใหม่บางบัวทองนั้น ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา ได้เห็นผลเชิงประจักษ์แล้วว่า หากคนในชุมชนหันมาคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง มีระบบการจัดการอย่างครบวงจร ขยะก็จะไม่ใช่ขยะอีกต่อไป แต่จะเป็นตัวช่วยที่สร้างรายได้เพิ่ม และช่วยลดภาวะโลกรวนได้อีกทางหนึ่งด้วย ถือเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปถอดบทเรียน และขยายผลสู่ชุมชนอื่น ๆ ต่อไป”
นายวิเชียร เจริญนนทสิทธิ์ นายกเทศบาลเมืองใหม่บางบัวทอง กล่าวว่า “ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้รับเกียรติ ร่วมจัดทำโครงการ 'คุ้มค่า x ยูนิลีเวอร์ แยกดีมีแต่ได้' โดยได้รับความร่วมมือระหว่างบริษัทยูนิลีเวอร์ และบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ เป็นชุมชนนำร่องให้ประชาชนในเขตพื้นที่ได้ทำการคัดแยกบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้ว 2 ประเภท คือ ขวด HDPE และ ซองบรรจุภัณฑ์หลายชั้น ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมากทั้งต่อชุมชน และต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการสร้าง ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนสร้างทัศนคติที่ดีต่อการมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม ผ่านการคัดแยกขยะ และผมมีความยินดีอย่างมากที่จะให้ความร่วมมือต่อไปหากมีสิ่งไหนที่เทศบาลเมืองใหม่บางบัวทองในฐานะที่เป็นองค์กรที่ใกล้ชิดกับประชาชนที่สุดสามารถทำได้ ผมยินดีจะทำด้วยความยินดีและเต็มความสามารถ เพื่อสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ในการร่วมกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน และเป็นแบบอย่างให้แก่ชุมชนอื่นต่อไป”
ความสำเร็จของโครงการในครั้งนี้ถือเป็นเพียงก้าวแรก และเราจะไม่หยุดเท่านี้ เรายังมีแผนที่จะขยายโครงการไปยังเทศบาลหรือชุมชนอื่นต่อไปอย่างต่อเนื่อง เราจะดำเนินการต่อไปเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมไปถึงการสร้างแรงจูงใจและการตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนและปัญหาพลาสติก ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนและไม่ใช่หน้าที่ของใครเพียงคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุก ๆ คนและทุก ๆ ภาคส่วนจึงจะสำเร็จได้ และเราหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นต้นแบบให้ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้า Recycler อื่น ๆ รวมไปถึงรัฐบาลลุกขึ้นมาทำสิ่งเหล่านี้อย่างจริงจังต่อไป นางณัฏฐิณี กล่าวสรุป