24 มีนาคม “วันวัณโรคโลก” สปสช. ร่วมยุติวัณโรค เร่งค้นหาผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยง รักษาให้หายขาด พร้อมสนับสนุนยุทธศาสตร์ “ไทยปลอดวัณโรคในปี 2578” เผยปี 2564 มีผู้ป่วยวัณโรคได้รับการดูแลด้วยยารักษาวัณโรคกว่า 8 หมื่นราย
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า วันวัณโรคโลก (World Tuberculosis Day) ตรงกับวันที่ 24 มีนาคมของทุกปี ตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาวัณโรคที่ยังคงระบาดอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนราว 1.6 ล้านคนต่อปี โดยเฉพาะประเทศโลกที่ 3 ซึ่งก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดกลุ่มประเทศที่มีภาระปัญหาวัณโรคสูงของโลก (WHO global lists of HBCs for 2016-2020) ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2558 มีทั้งหมด 14 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่มีภาระปัญหาวัณโรค
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 17 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศการจัดอันดับกลุ่มประเทศที่มีภาระปัญหาวัณโรคสูงของโลกขึ้นอีกครั้ง ประเทศไทยไม่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีจำนวนและอัตราป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูงแล้ว ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยพ้นจาก 14 ประเทศที่มีภาระด้านวัณโรคสูง ตามที่องค์การอนามัยโลกได้จัดไว้เมื่อปี 2558 ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของความสำเร็จด้านการดำเนินงานวัณโรค ถึงแม้ว่าผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาในประเทศไทยจะมีจำนวนลดน้อยลงและไม่อยู่ใน 30 ประเทศที่มีภาระปัญหาของโลกก็ตาม แต่ปัญหาวัณโรคก็ยังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย
ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมควบคุมโรค ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานยุทธศาสตร์สู่เป้าหมายยุติวัณโรคของประเทศไทยให้ได้ตามเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายในปี 2573 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค (End TB Strategy) ในปี 2578 ซึ่ง สปสช.พร้อมสนับสนุน โดยในปี 2564 ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองวัณโรคด้วยวิธีการถ่ายภาพรังสีทรวงอก หรือเอกเรย์ปอด (CXR) และตรวจวินิจฉัยวัณโรคด้วยวิธีอณูชีววิทยา (Molecular assay) เพื่อเร่งคัดกรอง ค้นหาและวินิจฉัยวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ที่กรมควบคุมโรคกำหนดโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ประกอบด้วย 1. ผู้สัมผัสร่วมบ้านหรือผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรคปอด 2. ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้อาศัยในสถานคุ้มครอง และพัฒนาคนพิการหรือสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 3. ผู้ติดเชื้อเอชไอวี 4. ผู้ป่วยโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง อาทิ ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง หรือได้รับ ยากดภูมิคุ้มกัน 5. ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี ที่สูบบุหรี่ หรือมีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) หรือโรคเบาหวานร่วมด้วย 6. ผู้ใช้สารเสพติด ติดสุราเรื้อรัง และ 7. บุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ทั้งนี้ในส่วนของผลการบริการ จากรายงานผลการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2564 มีผู้ป่วยวัณโรคได้รับการดูแลรักษาด้วยยาวัณโรค จำนวน 81,719 คน และมีการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคแบบเข้มข้นในกลุ่มเสี่ยงสูง โดยการเอกซเรย์ปอดในกลุ่มผู้ต้องขังและกลุ่มสัมผัสผู้ป่วยวัณโรค 291,146 คน และได้นำเข้าสู่การรักษา
“ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันทุกภาคส่วนต่างร่วมมือกันเพื่อทำให้อัตราอุบัติการณ์วัณโรคของประเทศไทยลดลง ใช้กลยุทธ์ค้นให้พบจบด้วยหาย เน้นค้นหาผู้ป่วยวัณโรคและนำเข้าสู่การรักษาและติดตามให้หายขาดโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนรอบข้าง อย่างไรก็ตามการลดอัตราป่วยวัณโรครายใหม่ลงจะทำได้หรือไม่ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อให้ประเทศไทยปลอดจากวัณโรคตามแผนยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso