จากนโยบาย “ยุติธรรมสร้างสุข” ของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ต้องการอำนวยความยุติธรรม สร้างโอกาสให้ประชาชนที่เป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ (กลุ่มตกสำรวจ) ที่ส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อย ฐานะยากจน อยู่ห่างไกลตามแนวชายแดน และขาดพยานหลักฐานสำคัญในการพิจารณาให้สัญชาติ โดยพบว่ากลุ่มบุคคลตกสำรวจดังกล่าวได้ขอขึ้นทะเบียนไว้กับรัฐบาลไทยจำนวนทั้งสิ้น 479,943 คน และเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ที่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน จึงได้สั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ดำเนินโครงการอำนวยความเป็นธรรมด้านความมั่นคง ให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรภาคประชาสังคม ดำเนินการค้นหาและนำคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ โดยกำหนดให้สร้างกระบวนการกลั่นกรองก่อนการพิจารณา และมีนวัตกรรมการนำฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรมาเชื่อมโยงทำแผนผังครอบครัวเพื่อลดความผิดพลาดในการพิจารณาสัญชาติก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจพิสูจน์ DNA
ล่าสุด วันนี้ (วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม 2565) นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวีร์ ไชยวุฒิ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และ พันตำรวจโท พงศ์อินทร์ อินทรขาว ที่ปรึกษาโครงการอำนวยความเป็นธรรมด้านความมั่นคง ร่วมกับยุติธรรมจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตรวจเยี่ยมและร่วมตรวจพิสูจน์สัญชาติของผู้ขอมีสัญชาติไทยและบุคคลอ้างอิงจำนวน 224 ราย และในวันอังคารที่ 22 มีนาคม 2565 ลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในอำเภอสบเมย และอำเภอแม่สะเรียง เพื่อมอบบัตรประจำตัวประชาชน ให้แก่บุคคล ที่ผ่านกระบวนการพิจารณาสัญชาติ อีกจำนวน 21 ราย ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุน เป็นอย่างดีจากองค์กรภาคประชาสังคมหลายแห่ง อาทิ องค์กรแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล และเครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยหลังจากนี้ กรมสอบสวน คดีพิเศษ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จะดำเนินการค้นหา และตรวจสอบคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ตกสำรวจ มาคัดกรอง เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติให้ครบถ้วนที่สุด ต่อไป