ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ สกนช. ได้มีโอกาสเยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากปาล์มน้ำมันของบริษัท เอส.พี.โอ.อะโกรอินดัสตรี้ส์ จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มดิบ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม ตลอดจน บริษัท นิวไบโอดีเซล จำกัด ซึ่งมีระบบการรับซื้อ-ขายปาล์มน้ำมันอย่างครบวงจร
สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลกระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากปาล์มน้ำมัน โดยแลกเปลี่ยนและรับทราบข้อมูลในหลากหลายมิติ ทั้งเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ผู้ประกอบการโรงสกัดน้ำมันปาล์ม โรงงานผลิตไบโอดีเซล ตลอดจนนักวิชาการ เพื่อนำไปปรับปรุงแผนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีภารกิจต้องหยุดจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยคาดว่าจะต้องขยายการชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปก่อนเพื่อเตรียมความพร้อมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
นอกจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเป็นกลไกหลักในการรักษาเสถียรภาพราคาชายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเมื่อเกิดวิกฤตตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาแล้ว กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีบทบาทสนับสนุน และพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลหลายประการที่เป็นประโยชน์ ตั้งแต่ช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล ช่วยเพิ่มมูลค่าให้พืชพลังงาน เกิดการสร้างงานสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพกระจายสู่ภูมิภาค อีกทั้งยังต่อยอดไปสู่เศรษฐกิจแบบ Bio Economy และที่สำคัญมีส่วนช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกด้วย
ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ สกนช. ได้มีโอกาสเยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากปาล์มน้ำมันของบริษัท เอส.พี.โอ.อะโกรอินดัสตรี้ส์ จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มดิบ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม ตลอดจน บริษัท นิวไบโอดีเซล จำกัด ซึ่งมีระบบการรับซื้อ-ขายปาล์มน้ำมันอย่างครบวงจร ซึ่งเสียงสะท้อนที่ได้รับมีประโยชน์ต่อการนำมาใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาขยายการชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปก่อนเพื่อเตรียมความพร้อมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 จะต้องวางแผนลดการอุดหนุนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพลงภายใน 3 ปี แต่กฎหมายมีความยืดหยุ่นให้ขยายเวลาการลดการชดเชยได้ 2 ครั้งๆ ละ 2 ปี ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ผันผวน และยังต้องคำนึงถึงการปรับตัวของภาคเกษตรกรประกอบด้วย แนวทางในการหยุดชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจึงต้องพิจารณาขยายระยะเวลาออกไปก่อน ซึ่งการศึกษาดูงานครั้งนี้ สกนช. จะนำข้อมูลที่ได้รับมาปรับใช้และเตรียมจัดทำแผนขอขยายการชดเชยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันต่อไป