SCB 10X องค์กรแรกจากไทยที่ขึ้นชั้น Corporate Venture Capital ระดับโลก จัดอันดับโดย CB Insights สะท้อนศักยภาพและความสามารถด้านการลงทุนในเวทีสากล คว้าอันดับ 2 ใน Global CVC ที่ลงทุนในสตาร์ทอัพด้าน Fintech และอันดับ 8 จาก CVC ทั่วโลก
เอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) บริษัทโฮลดิ้งคอมพานีในกลุ่มไทยพาณิชย์ ตอกย้ำความสำเร็จภารกิจ Moonshot Mission ด้านการลงทุนในบริษัทเทคคอมพานี และสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพทั่วโลก ล่าสุด ขึ้นแท่น Corporate Venture Capital (CVC) หรือกองทุนที่จัดตั้งโดยบริษัทชั้นนำของโลก จากรายงานประจำปี “CB Insights State of Fintech Global 2021” จัดทำโดย CB Insights แพลตฟอร์มที่ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับ Venture Capital และสตาร์ทอัพทั่วโลก โดย SCB 10X ได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 2 ของกลุ่ม Global CVC ที่ลงทุนในสตาร์ทอัพด้าน Fintech และอันดับที่ 8 จาก CVC ทั่วโลก ซึ่งนับเป็นองค์กรแรกจากประเทศไทยที่ติดอันดับท็อปเท็นด้าน CVC ระดับโลก ซึ่งการได้รับการยอมรับในระดับโลกครั้งนี้ จะเป็นการเปิดประตูครั้งสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และจะนำมาซึ่งโอกาสในการลงทุนและนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทยอย่างแน่นอน
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กลุ่มไทยพาณิชย์มีความยินดีและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ SCB 10X บริษัทในเครือฯ ได้รับการจัดอันดับด้าน Corporate Venture Capital (CVC) ประจำปี 2564 สำรวจและจัดลำดับโดย CB Insights ที่ได้ติดตามการระดมทุนของสตาร์ทอัพต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง และทำการจัดลำดับ Corporate Venture Capital (CVC) จากกว่า 2,300 บริษัททั่วโลก ซึ่ง CB Insights ถือเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับการยอมรับระดับโลก ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวกับ Venture Capital และ Startup ทั่วโลก ในครั้งนี้ SCB 10X ได้อันดับที่ 2 จากการจัดประเภท Global CVC ที่ลงทุนในสตาร์ทอัพด้าน Fintech และอันดับที่ 8 จาก CVC ทั่วโลก โดย SCB 10X นับเป็นองค์กรแรกจากประเทศไทยที่ติดอันดับท็อปเท็นด้าน CVC ระดับโลก สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถของ SCB 10X ในการเลือกลงทุนและเข้าถึงบริษัทเทคคอมพานีและสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง ซึ่งการได้รับการยอมรับในเวทีระดับสากลนี้ จะเป็นการเปิดประตูครั้งสำคัญที่จะนำมาซึ่งโอกาสด้านการลงทุนรวมถึงการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทยในอนาคต”
ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด กล่าวว่า “SCB 10X โฟกัสการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนโดยดิจิทัลเทคโนโลยี ทั้งการเข้าไปลงทุนเอง การลงทุนร่วมสร้าง ซึ่งการลงทุนในลักษณะนี้จะช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และช่วยให้กลุ่มไทยพาณิชย์ มีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น รวมถึงสร้างมูลค่าจากธุรกิจใหม่ที่สามารถมาทดแทน และเพิ่มการเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างยั่งยืนให้กับกลุ่มไทยพาณิชย์ การเข้าลงทุนของ SCB 10X ในกลุ่มบริษัทเทคคอมพานี และสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพทั่วโลก จะเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางด้านเทคโนโลยีจากทั่วโลกให้กับกลุ่มไทยพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ และผลักดันให้กลุ่มไทยพาณิชย์บรรลุเป้าหมายในการเป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาคและระดับโลกที่มีมูลค่าเกิน 1 ล้านล้านบาท และฐานลูกค้ากว่า 200 ล้านคน”
นางมุขยา พานิช Chief Venture and Investment Officer บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด (SCB 10X) กล่าวว่า “ภายใต้ภารกิจ “Moonshot Mission” ที่มุ่งเน้นสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดให้กับองค์กร เราให้ความสนใจและโฟกัสการลงทุนในกลุ่มธุรกิจด้าน Disruptive Technology ได้แก่ เทคโนโลยีด้านการเงิน (Fintech) โดยเฉพาะบล็อกเชน (Blockchain) ที่เกี่ยวกับด้าน Financial Services รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) Web 3.0 และ Metaverse ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยในช่วงที่ผ่านมาเราได้มีการลงทุนในบริษัทเทคคอมพานีและสตาร์ทอัพทั่วโลกกว่า 40 บริษัท และนอกจากการลงทุนในลักษณะของ Venture Capital แล้ว SCB 10X ยังมีการลงทุนในลักษณะของ Strategic Investment เพื่อร่วมกันนำขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อยอดธุรกิจรองรับโลกการเงินแห่งอนาคต อีกทั้ง SCB 10X มีแผนที่จะเตรียมการจัดตั้งกองทุน Venture Capital ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ขนาด 600 – 800 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 19,800-26,400 ล้านบาท) เพื่อลงทุนใน Disruptive Technology ด้านบล็อคเชน (Blockchain) สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) เทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงทั่วโลก ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติจากหน่วยงานกำกับทางการ”