สสส. – พม. – มสธ. พบ ผู้สูงอายุใช้โทรศัพท์มือถือ 8.7 ล้านคน เล่นอินเทอร์เน็ตค้นข้อมูลสุขภาพกว่า 8 แสนคน ด้านผลสำรวจพบผู้สูงอายุเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ร้อยละ 95 พัฒนา“หลักสูตรผู้สูงวัยดิจิทัล” สร้างสังคม Thai Smart Ageing มอบของขวัญผู้สูงวัย ต้อนรับปีใหม่ 2565
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2564 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และภาคีเครือข่ายผู้สูงอายุ จัดกิจกรรมไทยสมาร์ทเอจจิ้ง ของขวัญจากใจ สู่ผู้สูงอายุไทยยุคดิจิทัล แนะนำหลักสูตรผู้สูงวัยยุคดิจิทัลให้รู้เท่าทันเทคโนโลยี เตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดี
โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ภายในปี 2565 เพราะจะมีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศประมาณ 66.19 ล้านคน และอีก 12 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มเป็นร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ โดยปัญหาทางสุขภาพที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้สูงอายุร้อยละ 95 เสี่ยงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มีภาวะแทรกซ้อนในการใช้ชีวิตประจำวัน และมีแนวโน้มเกิดภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น หากไม่ดูแลสุขภาพหรือมีความรู้ดูแลตัวเองไม่เพียงพอ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ สสส. และภาคีเครือข่ายต้องทำงานเชิงรุก ค้นหาแนวทางพัฒนาศักยภาพส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้รู้เท่าทันยุค Disruption ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของโลกที่รวดเร็ว
ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า ผู้สูงอายุปัจจุบันมีโทรศัพท์มือถือ 8.7 ล้านคน ในจำนวนนี้ใช้โทรศัพท์ Smart Phone กว่า 5.89 ล้านคน แสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุมีความสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ มากขึ้น ดูได้จากการเข้าถึงโซเชียลมีเดียรูปแบบต่างๆ เช่น Line Facebook โดยมีผู้สูงอายุกว่า 8 แสนคน ใช้อินเทอร์เน็ตค้นหาข้อมูลทางสุขภาพ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาการบทเรียน “หลักสูตรผู้สูงวัยดิจิทัล” ร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และศูนย์วิจัยการจัดการความรู้การสื่อสารและการพัฒนา (CCDKM) ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านบริการบทเรียนออนไลน์แบบเปิด หรือ Massive Open Online Courseware (Mooc) ซึ่งเป็นบทเรียนออนไลน์ที่เปิดให้ใช้บริการฟรีรองรับผู้เข้าเรียนได้จำนวนมาก โดยผู้เรียนสามารถดูวิดีโอบรรยาย ฝึกปฏิบัติ ทำแบบทดสอบแบบฝึกหัด และร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ ในเนื้อหาประกอบด้วยความรู้เบื้องต้น 4 ส่วน ได้แก่ 1.เรื่องอาหาร-ยา 2.เรื่องสุขภาพกาย-ใจ 3.เรื่องสภาพแวดล้อม และ 4.การสร้างเสริมประสบการชีวิต หรือสังคม โดยเนื้อหามีรูปแบบสื่อสารเข้าใจง่ายผ่านคลิปวิดีโอ สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายและใช้เวลาไม่นาน โดยผู้สนใจสามารถสมัครเข้าเรียนได้ที่เว็บไซต์ www.thaismartageing.org ระบบนี้สามารถเรียนรู้ได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ มีเนื้อหา รูปแบบเหมาะกับทั้งกลุ่มที่อยู่ในเมืองหรืออยู่ในชุมชนท้องถิ่น ให้สามารถเข้าถึงระบบ
“หลักสูตรผู้สูงวัยดิจิทัล สสส. และภาคีเครือข่าย อยากให้เป็นของขวัญในเทศกาลปีใหม่ 2565 สำหรับผู้สูงอายุ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทเรียนต่างๆ จะส่งต่อพลังและศักยภาพที่เข้มแข็งของตัวเองให้กับผู้สูงอายุทุกคนได้ เพราะการเรียนรู้ตลอดช่วงวัยสำหรับผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญ การเพิ่มช่องทางการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ จะเป็นทางเลือกให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในกลุ่มประชากรกลุ่มเปราะบางทำกิจกรรมต่างๆ ได้ โดยไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่ระบาดโควิด-19 อีกด้วย” ดร.สุปรีดา กล่าว
นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ผู้สูงอายุต้องปรับตัวกับการใช้ชีวิตเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ให้ได้ และเตรียมความพร้อมกับการใช้ชีวิตในยุค Next Normal ต่อไป การสื่อสารแบบออนไลน์จึงเป็นสิ่งสำคัญกับการใช้ชีวิตยุค COVID-19 กรมกิจการผู้สูงอายุ จึงร่วมกับสสส. และ มสธ. จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนหลักสูตรผู้สูงวัยดิจิทัล เพื่อสนับสนุนข้อมูล ให้ความคิดเห็นและคำปรึกษาแนะนำแนวทางการจัดการเรียนการสอน รวมถึงพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการและเหมาะสม โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานที่อยู่ในความดูแลของกรมกิจการผู้สูงอายุ และเครือข่ายด้านผู้สูงอายุทั่วประเทศ นำหลักสูตรผู้สูงวัยดิจิทัลไปใช้ เช่น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุ ชมรมผู้สูงอายุ
รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) กล่าวว่า มีความยินดีที่มีโอกาสร่วมพัฒนาระบบการเรียนออนไลน์ “หลักสูตรผู้สูงวัยยุคดิจิทัล” ซึ่งนอกจากจะเป็นของขวัญปีใหม่ที่ สสส. และภาคีเครือข่ายตั้งใจมอบให้ผู้สูงอายุไทย หลักสูตรนี้เป็นอีกหนึ่งในหลักสูตรนวัตกรรมที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคมสูงวัยของประเทศไทย ผ่านการขับเคลื่อนภายใต้พันธกิจหลักของ มสธ. คือการใช้นวัตกรรมการศึกษาทางไกล การศึกษาด้วยตัวเองเพื่อการเรียนรู้และการพัฒนาตัวเองต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อการพัฒนาบุคลากรให้แก่สังคมอย่างยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมการเรียนรู้วิถีใหม่ (New Normal) ที่เป็นการเรียนรู้เชิงบูรณาการระหว่างสหศาสตร์ สหวิธี และสหวัย ในรูปแบบของหลักสูตรระยะสั้น (Modular) ที่เป็นหลักสูตร “สมรรถนะบัตร” จำนวน 1 หน่วยกิจ และสามารถที่จะสะสมไว้ในระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ของมหาวิทยาลัยได้