ก.ล.ต. ร่วมกับ 14 องค์กร นำเสนอบทบาททางด้านการส่งเสริมธรรมาภิบาลของภาคตลาดทุนใน “เวทีระดมความร่วมมือแผนปฏิบัติการธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับ 14 องค์กร นำเสนอบทบาททางด้านการส่งเสริมธรรมาภิบาลของภาคตลาดทุนใน “เวทีระดมความร่วมมือแผนปฏิบัติการธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Governance for Sustainable Development Forum) เพื่อสร้างความเข้าใจและการรับรู้ในวงกว้างถึงบทบาทของภาคตลาดทุนและหน่วยงานร่วมในการขับเคลื่อนให้ธุรกิจมีธรรมาภิบาล อันเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญ ในการกำหนดนโยบายและนำไปสู่การประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. และนางสิริวิภา สุพรรณธเนศ รองเลขาธิการ พร้อมด้วยผู้แทนจาก 14 องค์กร ร่วมนำเสนอบทบาทของภาคตลาดทุน ภายใต้หัวข้อ “แนวทางขับเคลื่อนธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน” ในเวทีระดมความร่วมมือแผนปฏิบัติการธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Governance for Sustainable Development Forum) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Good Society Summit ที่จัดขึ้นในวันที่ 19 – 21 พฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบงานออนไลน์เสมือนจริง ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ http://goodsociety.network
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ก.ล.ต. มีความยินดีและขอขอบคุณภาคีผู้จัดงาน Good Society Summit 2021 ที่ให้ ก.ล.ต. ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอบทบาทของภาคตลาดทุนในการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน โดยการส่งเสริมด้านความยั่งยืนเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของ ก.ล.ต. โดยเน้นการสร้างระบบนิเวศ หรือ Ecosystem ที่เอื้อให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนมีธรรมาภิบาล หรือ CG ที่ดี และเป็นรากฐานสำคัญในการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลาดทุนจึงเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ สอดรับกับทิศทางและแนวนโยบายของประเทศ อาทิ เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608 ที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ในการยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศของประเทศ ในการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 - 2565) ซึ่ง ก.ล.ต. เป็นหนึ่งในหน่วยงานรัฐที่ได้รับมอบหมายภารกิจจากรัฐบาล เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจดำเนินการโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือ United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights (UNGPs) ด้วย”
“นอกจากนี้ การมีธรรมาภิบาลที่ดีไม่ใช่เพียงแค่ให้บริษัทจดทะเบียนสามารถปรับตัวได้ทันต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง แข่งขันได้ และมีโอกาสเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน แต่ยังรวมถึงการประกอบธุรกิจอย่างคำนึงถึงผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ในฐานะ “พลเมืองดี” ของสังคม ดังนั้น ตลาดทุนจึงเป็นอีกกลไกหนึ่งในการร่วมสร้างสังคมดีได้ และขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมดี สร้างพลังขับเคลื่อนสังคมดีให้ขยายวงกว้างออกไป” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว
สำหรับการเสวนาในหัวข้อ “การยกระดับการประกอบธุรกิจอย่างมี ESG โดยเฉพาะประเด็นสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน เพื่อนำไปสู่ความน่าเชื่อถือของการเปิดเผยข้อมูล” ได้รับเกียรติจาก ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณะบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และนางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ได้เล่าถึงบทบาทของแต่ละองค์กรในการนำทิศทางสากลและนโยบายของประเทศมาเป็นกรอบแนวคิดในการกำหนดแนวทางดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล คำนึงถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม และ
สิทธิมนุษยชน ปฏิบัติได้จริง และจัดทำรายงานหรือเปิดเผยข้อมูล ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารสะท้อนความรับผิดชอบ ความโปร่งใสขององค์กร และสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียได้
ในเสวนาหัวข้อ “กลไกธรรมาภิบาลเพื่อการสร้างมูลค่าของธุรกิจในระยะยาว” นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย นายชยากร เลี้ยงรื่นรมย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่กำกับดูแลและธรรมาภิบาลองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายเกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาต Chief Financial Officer บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) นายปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืน ฝั่งภูมิภาคเอเชีย บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาขน) และ ดร.ศรุดา ศิริภัทรปรีชา ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาองค์กรที่ยั่งยืน บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ได้ให้มุมมองและการดำเนินการในเชิงรูปธรรมของภาคธุรกิจ ความเชื่อมโยงระหว่างธรรมาภิบาลกับการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน โดยตอบโจทย์
ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ลูกค้า คู่ค้า ชุมชน เพื่อให้ธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมดีได้
ปิดท้ายด้วยงานเสวนาในหัวข้อ “ก้าวต่อไปของภาคตลาดทุนในการสร้างสังคมดี” โดยนางสิริวิภา สุพรรณธเนศ รองเลขาธิการ ก.ล.ต. นางรัตติกุล จันทร์สุริยา ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางสาวอโณทัย สังข์ทอง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมตลาดคาร์บอนและนวัตกรรม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย นางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ และ ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้ให้มุมมองถึงแนวทางขับเคลื่อน
เพื่อจัดการความท้าทายซึ่งเป็นโจทย์ของประเทศ และการสร้างผลลัพธ์ร่วม (collective impact) ต่อผู้มีส่วนได้เสีย หรือประชาชน เพื่อร่วมกันสร้างสังคมดีกันต่อไป
งาน Good Society Summit 2021 จัดขึ้นเพื่อเป็นกลไกและตัวกลางเชื่อมโยงการสร้างสังคมดี ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งผู้คน ภาคสังคม ภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน และหน่วยงานที่ทำงานในประเด็นทางสังคม ดังนั้น เงื่อนไขสำคัญที่จะสร้างสังคมดีคือ “การมีส่วนร่วม” จากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดระบบนิเวศของการมีส่วนร่วม จึงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต่อไปได้ โดยภาคียุทธศาสตร์ได้จัดเวทีระดมความร่วมมือแผนปฏิบัติการธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีท่านอานันท์ ปันยารชุนเป็นประธาน และ ก.ล.ต. พร้อมหน่วยงานจากหลายภาคส่วน ร่วมกันจัดในส่วนของเวทีระดมความร่วมมือแผนปฏิบัติการธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Governance for Sustainable Development Forum)