สสส. - เครือข่ายองค์กรงดเหล้า ชวน ออกพรรษาลาเหล้า เข้าสู่ชีวิตใหม่ เผย รณรงค์สื่อรักให้พักเหล้า โรงเรียน - ชุมชน พบ ประหยัดเงินรวม 56 ล้าน เตือน เปิดประเทศ หยุดตั้งวงดื่ม - เล่นพนัน ป้องกันโควิด-19 ระบาดซ้ำ
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2564 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จัดเสวนาออนไลน์ที่แฟนเพจเฟซบุ๊กเครือข่ายงดเหล้า แลกเปลี่ยนประสบการณ์ จัดเสวนา “ออกพรรษาลาเหล้า..เข้าสู่ชีวิตใหม่” ชวนทุกคนใช้ชีวิตหลังเปิดประเทศอย่างระมัดระวัง ป้องวงจรโควิด-19 ระบาดซ้ำ เพื่อสุขภาวะที่ดี
โดย นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกำกับทิศทางแผนงานรณรงค์เพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สสส. กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 สังคมต้องปรับการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ สสส. ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนให้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการ เน้นพัฒนาศักยภาพชุมชน และขยายผลการดำเนินงานการลดปัจจัยเสี่ยงจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านโครงการ “ชุมชนคนสู้เหล้า” ที่ดำเนินการต่อเนื่องมา 5 ปี จนเกิดเป็นรูปธรรม สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นกลุ่มชมรมคนหัวใจเพชร ที่สามารถเลิกดื่มเหล้าได้สำเร็จมาช่วยรณรงค์ต่อในชุมชนได้ และส่งเสริมให้มีการพึ่งพาตัวเองผ่านการฝึกอาชีพให้มีรายได้ อีกทั้งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ชุมชนที่ปลอดเหล้าก็มีส่วนแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ เพราะไม่มีความเสี่ยงติดเชื้อจากการตั้งวง ไม่เว้นระยะห่าง หรือดื่มแก้วเดียวกัน
“จากการถอดบทเรียนการทำงานชุมชนสู้เหล้า มีโมเดล 3 ช. คือ ชวน ช่วย เชียร์ ในช่วงโควิด-19 เครือข่ายองค์กรงดเหล้าได้พัฒนาโครงการ “ชุมชนสู้เหล้า เข้าใจโควิด” พบว่า ผู้ที่เข้าร่วมโครงการมีสุขภาพกายและใจที่ดี ได้อยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข รู้สึกปลอดภัย และมีเงินเหลือเก็บในภาวะที่เศรษฐกิจหยุดชะงัก ขณะที่ชมรมคนหัวใจเพชรมีแกนนำในการชวน ช่วย เชียร์ ทำความเข้าใจชาวบ้านให้รู้จักป้องกันตัวเอง และรู้วิธีเบื้องต้นในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 รวมทั้งส่งเสริมอาชีพ เช่น ทำรถพุ่มพวง ปลูกพืชสมุนไพร เพราะคนที่เลิกเหล้าทุกคนมีฝีมืออยู่แล้ว แต่เพราะดื่มเหล้าจึงอาจทำให้ไม่ได้ใช้ทักษะฝีมือที่มีอยู่ไปทำงานเลี้ยงชีพได้” นายวิเชษฐ์ กล่าว
นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2564 ที่ผ่านมา เครือข่ายงดเหล้าและ สสส. ได้ดำเนินงานในพื้นที่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสถานศึกษา และกลุ่มชุมชน ภายใต้แนวคิด “สื่อรักให้พักเหล้า” มีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการกว่า 2,000 แห่ง และในชุมชนกว่า 513 แห่ง นอกจากนี้ยังได้ทำงานร่วมกับนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคธุรกิจ โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ รัฐวิสาหกิจ อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยหรือ (อสค.) พบว่ามีคนร่วมงดเหล้าครบ 3 เดือน จำนวน 16,651 คน ประหยัดเงินได้ 56 ล้านบาท ส่วนผลสำรวจความสำเร็จของโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ปี 2564 จากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและสรุปสถิติ คาดว่าประมาณเดือนกุมภาพันธ์ปี 2565 จะรู้ภาพรวมระดับประเทศ
เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า งานประเพณีออกพรรษาที่จัดขึ้นในท้องถิ่นต่างๆ พร้อมกับการเปิดประเทศครั้งนี้ ควรต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก ด้วยสถานการณ์โรคระบาดฯ อาจมีความเสี่ยงจากการตั้งวงดื่มเหล้า การเล่นการพนัน ซึ่งอาจนำมาสู่คลัสเตอร์โควิดได้ เนื่องจากวิถีชีวิตในปัจจุบัน ยังต้องเว้นระยะห่าง การดื่มมีส่วนทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายลดลงไป อีกทั้งสถานที่ต่างๆ อาจมีการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้อีกด้วย จึงขอรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทและใช้ความระมัดระวัง คนที่งดเหล้าเข้าพรรษาได้แล้ว ขอเชิญชวนให้ใช้โอกาส “ออกพรรษา ลาเหล้า” ต่อไป
นายผจญ แก้วเพชร อายุ 45 ปี เครือข่ายนักบิดจิตอาสา จ.สงขลา ที่ผันตัวสู่นักรณรงค์สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนเลิกเหล้า กล่าวว่า ดื่มครั้งแรกอายุ 16 ปี เพราะอยากได้รับการยอมรับจากรุ่นพี่ แต่กลับเกิดผลเสียในครอบครัวมากกว่า เห็นได้จากการที่พ่อเสียชีวิตเพราะการเมาเหล้า ตัวเองต้องเสียเพื่อนเพราะเมาเหล้า ส่วนตัวเองถึงขั้นเงินหมดกระเป๋า ระยะหลังตนใช้เวลาว่างขับขี่มอเตอร์ไซค์ท่องเที่ยว และมีโอกาสได้รู้จักกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคใต้ตอนล่าง และ สสส. จึงตั้งใจร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา โดยหยุดดื่มตั้งแต่มีโควิด-19 ระบาด ที่มีโอกาสเห็นคนที่ได้รับผลกระทบจากเหล้า รวมทั้งเหยื่อเมาแล้วขับ ตนไม่อยากมีส่วนในการทำลายอนาคตของใคร และคิดว่าควรจะหยุดทำร้ายร่างกายตัวเอง เลยหันมาสร้างคุณค่าให้กับตัวเองแทนจะดีกว่า ด้วยการนำเงินค่าเหล้ามาสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและครอบครัว
นายเกรียงไกร เกียรติมงคล ชุมชนคูหาสวรรค์ อายุ 55 ปี จ.ราชบุรี จากนักดื่ม สู่นักส่งเสริมสุขภาวะคนหัวใจเพชร กล่าวว่า ตนดื่มเหล้าและร่วมงดเหล้าเข้าพรรษามา 3-4 ปีแล้ว และกลับมาเริ่มดื่มหลังงานทอดกฐิน ดื่มแต่ละครั้งหมดเงิน 300-400 บาท ช่วงหลังเริ่มดื่มลดลงตามวัยที่สูงขึ้นแต่ก็ยังเลิกดื่มไม่ได้ หลวงพ่อชวนมาเป็นกรรมการที่วัด ซึ่งตนปฏิเสธมาตลอด เพราะคิดว่าดื่มเหล้ากลัวจะผิดศีล แต่มีความตั้งใจเลิกดื่มเพราะคิดถึงสุขภาพ พอหยุดเหล้ามาประมาณ 2 ปี สามารถลดค่าใช้จ่ายในบ้าน และเป็นแบบอย่างให้กับลูกหลานได้ ถ้าเมื่อคิดย้อนไปเงินค่าเหล้าก็เป็นค่ากับข้าวของครอบครัวได้
นางสาวศิริลักษณ์ ภูลิ้นลาย อายุ 34 ปี บ้านโคกเครือ จ.กาฬสินธุ์ สาวนักดื่มเข้าสังคม ตัดสินใจเลิกเหล้าเพราะกำลังใจจากลูกและสามี กล่าวว่า จากเป็นกองเชียร์งานกีฬา เสร็จงานมีการดื่มกับเพื่อนๆ มีงานหมอลำก็ไปดื่มหน้าเวที หลังๆ มีผลกระทบจากการดื่มคือ สุขภาพร่างกายเวลาดื่มเข้าไปมักจะเจ็บท้องเป็นโรคกระเพาะ ครอบครัวไม่มีความสุข ทะเลาะกันบ่อยๆ เพราะสามีก็ดื่มเหล้าเหมือนกัน จึงตัดสินใจงดเหล้าเข้าพรรษากับเครือข่ายองค์กรงดเหล้าของ สสส. ระหว่างเข้าร่วมก็จะมีคนมาเยี่ยม ให้กำลังใจ มีการให้เมล็ดพันธุ์ผักมาให้ปลูกเพื่อสร้างกิจกรรมในครอบครัวช่วงเข้าพรรษาตลอด 3 เดือน ชีวิตหลังงดดื่มเหล้ามีการเปลี่ยนแปลงคือ ชีวิตเราดี ครอบครัวก็ดี ร่างกายก็ดีขึ้น เงินก็พอใช้ แทนที่เงินเราจะไปซื้อเหล้า ก็เอาซื้อกับข้าวให้ลูก เหลือก็เก็บไว้ให้ลูกเรียนหนังสือ ลูกก็ภูมิใจ บอกกับเราว่า “ภูมิใจที่แม่เลิกเหล้าได้”