โควิด-19 พบเด็กเล็กพัฒนาการถดถอย - ติดมือถือ - สัมพันธ์ในบ้านมีปัญหา สสส. - ภาคีเครือข่าย พัฒนา ‘กล่องครอบครัวยิ้ม’ ส่งต่อ 2,140 ชุด ให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ชุมชนทั่วประเทศ หวังกระตุ้นการเรียนรู้ ส่งเสริมการเล่นอิสระ เพิ่มทักษะผู้ปกครองเลี้ยงลูกยุคใหม่
.............................................
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กอย่างมาก เนื่องจากโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกว่า 90% ต้องปิดตามมาตรการควบคุมความเสี่ยง ทำให้เด็กจำนวนไม่น้อยมีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ถดถอย ปัญหาที่พบบ่อย ได้แก่ 1.เด็กติดสื่อจอใส ทั้งทีวี โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต 2.เด็กมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ขาดกิจกรรมทางกาย และ .3. เด็กมีพัฒนาการถดถอยทั้งทางสติปัญญา กาย อารมณ์ และสังคม สสส. และภาคีเครือข่าย จึงร่วมกันจัดทำ ‘กล่องครอบครัวยิ้ม’ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กเล็ก ไม่ให้หยุดนิ่งหรือถดถอยเพราะสถานการณ์ล็อคดาวน์ โดยใช้การเล่านิทาน และส่งเสริมการเล่นอิสระในครอบครัว
นางสาวณัฐยา กล่าวต่อว่า ‘กล่องครอบครัวยิ้ม’ จะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้เด็กมีกิจกรรมร่วมกับผู้ปกครองมากขึ้น ส่งเสริมความรักความอบอุ่นในครอบครัว โดย สสส. และภาคีเครือข่ายได้นำร่องจัดส่งไปยัง 17 จังหวัด 95 ตำบลในพื้นที่ภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ รวมจำนวน 2,140 ชุด โดยครอบครัวที่จะได้รับกล่องจะต้องผ่านหลักเกณฑ์การคัดเลือก ดังนี้ 1.เด็กจะต้องมีอายุ 3-7 ปี 2.เด็กอาจมีพัฒนาการล่าช้า หรือคาดว่าล่าช้า 3.เด็กขาดแคลนของเล่นหรืออยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อย และ 4.เด็กมี ผู้ปกครอง หรือผู้เลี้ยงดูที่สามารถพาเล่นได้ โดยแกนนำตำบลจะคัดเลือกเด็กจากฐานข้อมูลเด็กรายบุคคล หรือข้อมูลจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่
“ สสส. ส่งกล่องครอบครัวยิ้ม ไปยังทีมชุมชน รวม 17 จังหวัดเพื่อแจกจ่ายให้เด็กๆกลุ่มเป้าหมาย ของเล่นและหนังสือนิทานที่บรรจุในกล่องจะช่วยพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ตรงตามวัยเด็ก เพราะการที่ผู้ปกครองได้ใช้เวลาคุณภาพในการเล่นกับเด็ก มีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ ส่งผลดีต่อสติปัญญาโดยตรง ส่วนการเล่านิทานให้เด็กฟัง นอกจากสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวยังทำให้เด็กรู้จักคำศัพท์มากขึ้น ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเสริมสติปัญญาเมื่อเติบโต ” นางสาวณัฐยา กล่าว
นายพันธ์ศักดิ์ คำแก้ว ประธานศูนย์เรียนรู้ครอบครัวเข้มแข็ง จ.ลำปาง กล่าวว่า กล่องครอบครัวยิ้ม มีส่วนสำคัญในการสร้างเสริมสัมพันธภาพในบ้านและลดช่องว่างระหว่างวัยในครอบครัว ภายในกล่องออกแบบและทำของเล่นร่วมสมัย ที่พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย สามารถเล่นกับลูกหลานได้ เช่น โยโย่ ลูกข่าง แผ่นไม้ที่คล้ายตัวต่อ และมีรูปสัตว์ต่างๆ ที่สามารถนำมาเล่นและเล่าเป็นนิทานให้เด็กฟังได้ โดยการส่งต่อกล่องครอบครัวยิ้มจะมีอาสาสมัครชุมชนในตำบลต่างๆ ลงพื้นที่นำไปมอบให้กับเด็กในชุมชนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นอกจากให้กล่องของเล่นแล้ว การลงพื้นที่แต่ละครั้งยังทำให้ภาคีเครือข่ายเพื่อเด็กและครอบครัวได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กๆ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเก็บข้อมูลนำมาถอดบทเรียนสถานการณ์การเรียนรู้ของเด็กในช่วงนี้นำไปพัฒนาการทำงานเพื่อเด็กและครอบครัวต่อไป
“ กล่องของเล่นชุดนี้ไม่ใช่แค่ผู้ปกครองเล่นกับเด็กได้เพียงอย่างเดียว พี่กับน้องก็สามารถเล่นด้วยกันได้ ขอบคุณ สสส. ที่เห็นความสำคัญของการทำของเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กทั้ง กาย สติปัญญา สังคม และอารมณ์ และฝากถึงทุกครอบครัวว่าควรให้ความสำคัญต่อการเล่นกับเด็ก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาวะที่ดีตั้งแต่เริ่มต้น และมีส่วนสำคัญทำให้เด็กทุกคนเติบโตไปในทิศทางที่ดี ” นายพันธ์ศักดิ์ กล่าว