ไทยพีบีเอส เปิดตัวภาพยนตร์สารคดี “คลองเตย Isolated Community” เรียนรู้จากอดีตเพื่อให้อำนาจการจัดการโควิด -19 เป็นของทุกคน
..................
เพียงหนึ่งคนที่ติดเชื้อโควิด -19 จากคลัสเตอร์สถานบันเทิงทองหล่อ จุดตั้งต้นการระบาดในระลอก 3 นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ “ชุมชนคลองเตย” ชุมชนแออัดขนาดใหญ่ด้วยขนาดประชากรมากกว่า 1 แสนคน กลายเป็นภาพสะท้อนวิกฤตสุขภาพและความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพมหานคร รวมทั้งประเทศไทย ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดทั้งยืดเยื้อและลุกลามอย่างรวดเร็ว จนกล่าวกันว่า “ถ้าหยุดโควิดคลองเตยได้ ก็หยุดโควิดกรุงเทพฯ ได้” และเมื่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าเข้ามาเป็นปัจจัยทำให้เกิดการระบาดหนักมากขึ้นในระลอกที่ 4 นับประวัติศาสตร์สังคมไทยที่ต้องจารึกไว้ ว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นในทุก ๆ วัน จนระบบบริการสุขภาพรับมือไม่ไหว
“ชุมชนคลองเตย” ถูกจับตา ถูกเลือกปฏิบัติจากสังคมไทยในฐานะพื้นที่เสี่ยงและคนเสี่ยงติดโรค การเผชิญหน้ากับความกลัวสารพัด จนต้องลุกขึ้นสู้เพื่อรักษาชีวิตคนในครอบครัว ชุมชน แม้กระทั่งคนแปลกหน้า “แรงงานข้ามชาติ” พวกเขาก็โอบรับดูแลไว้ด้วยมนุษยธรรม เบื้องหลังการลองผิดลองถูกของชุมชนที่มากกว่าความสูญเสีย พวกเขาจัดการตัวเองอย่างไร จนกลายเป็นต้นแบบการกักตัวในชุมชนที่รัฐต้องนำไปขยายผล
ไทยพีบีเอส และ The Active จึงร่วมกันเปิดตัวภาพยนตร์สารคดี “คลองเตย Isolated Community” นำเสนอทางออนไลน์ ผ่าน www.VIPA.me ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน เป็นต้นไป เพื่อพาสังคมไทยกลับไปสำรวจบทเรียนการจัดการสถานการณ์วิกฤตในอดีต ส่งต่ออำนาจการจัดการโควิด-19 ให้เป็นของทุกคน และชุมชนอื่น ๆ พร้อมกันนั้น ชวนตั้งคำถามต่อสาธารณะ “เราจะอยู่ร่วมกับโควิด-19 ในอนาคตอย่างไร”
“การควบคุมการแพร่ระบาด ไม่ใช่การจัดการกับโรคเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการดูแลความมั่นคงของชีวิตทุกคนด้วย คนในชุมชนแออัดเป็นกลุ่มคนเปราะบางทางสังคมของเมือง สิ่งที่ต้องคำนึงก่อนคือ เขาไม่กลัวเรื่องโรค แต่เขากลัวว่าจะอดตายก่อน” นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข วันนี้ สงครามโรคในคลองเตยก็ยังไม่จบสิ้น
แต่เมื่อการจัดการแพร่เชื้อและปัญหาต่อเนื่องจากโควิด-19 เป็นเรื่องของทุกคน ไทยพีบีเอส และ The Active ขอชวนสังคมไทยจินตนาการสร้างจุดเปลี่ยนผ่านของประเทศเพื่อให้คลายล็อคดาวน์พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเปิดประเทศโดยเร็วให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจและฐานชีวิตของทุกคนกลับคืนมา ผ่านกิจกรรม หนังพาไปตอนพิเศษ “คลองเตยในวันนั้นสู่ชุมชนอื่น ๆ วันนี้และอนาคต” ในวันศุกร์ที่ 3 กันยายน 2564 เวลา 18.00 - 20.30 น. พร้อมล้อมวงเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “โจทย์ของผู้คน : การจัดการตัวเองและความพร้อมรับมือ Covid-19” ผู้ร่วมเสวนา อาทิ บอล-ทายาท และ ยอด-พิศาล พิธีกรรายการหนังพาไป , นพ.สิทธา ลิขิตนุกูล แพทย์เวชปฏิบัติองค์รวม , วรรณา แก้วชาติ ตัวแทนเครือข่ายสลัมสี่ภาค ตัวแทนจากชุมชนแนวตั้ง ชุมชนมุสลิม และ ณัฐพล พลาชุน ผู้กำกับหนังสารคดี เป็นต้น
และวันเสาร์ที่ 4 กันยายน 2564 เวลา 18.00 – 20.00 น. ชวน “คุยหลังหนัง : เราจะอยู่ร่วมกับโควิดอย่างไร ?” โดยนำข้อเสนอจากวงคุยแรก ประสบการณ์ต่าง ๆ ภายในชุมชนคลองเตย และชุมชนอื่น ๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อขมวดหาข้อเสนอในเชิงนโยบาย รวมถึงสร้างวาทกรรมการอยู่ร่วมกับโควิด-19 ในอนาคตผ่านรูปแบบต่าง ๆ ต่อไป ร่วมพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ อาทิ สุภาพ หริมเทพาธิป จาก Documentary Club , นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) , นิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพ และ สิทธิชาติ อังคะสิทธิศิริ ประธานชุมชนคลองเตย ล็อคที่ 1-3 และตัวแทนจากภาคธุรกิจ เป็นต้น
ติดตามภาพยนตร์สารคดี “คลองเตย Isolated Community” ทาง www.VIPA.me และร่วมพูดคุยในวงเสวนาผ่านกิจกรรม หนังพาไปตอนพิเศษ “คลองเตยในวันนั้นสู่ชุมชนอื่น ๆ วันนี้และอนาคต” ในวันศุกร์ที่ 3 กันยายน 2564 เวลา 18.00 - 20.30 น. ในหัวข้อ “โจทย์ของผู้คน : การจัดการตัวเองและความพร้อมรับมือ Covid-19” รับชมสดทางออนไลน์ www.VIPA.me , Facebook : @ThaiPBS , Facebook : @theactive.net , Facebook : @MoviePaPai และ Facebook : @SaradeeThaiPBS
และวันเสาร์ที่ 4 กันยายน 2564 เวลา 18.00 – 20.00 น. ในหัวข้อ “คุยหลังหนัง : เราจะอยู่ร่วมกับโควิดอย่างไร ?” รับชมสดทางออนไลน์ www.VIPA.me , Facebook : @ThaiPBS , Facebook : @theactive.net และ Facebook : @SaradeeThaiPBS