เครือซีพีมุ่งมั่นเดินหน้าร้อยเรียงความดี สนับสนุนภารกิจเพื่อชาติ ร่วมร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด-19 มอบทุน 6.5 ล้านบาท สนับสนุนให้รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เร่งสร้างหอผู้ป่วยส่วนขยายกึ่งวิกฤต รองรับผู้ป่วยเหลือง-แดง หวังลดอัตราการเสียชีวิต กู้วิกฤตขาดแคลนเตียงไอซียู
........................
จากสถานการณ์วิกฤตโควิด19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในขณะนี้กำลังประสบปัญหาวิกฤตจำนวนเตียงไม่เพียงพอ ในการรับมือผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้เดินหน้าสนับสนุนภารกิจโรงพยาบาลสนามอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ “ซีพีร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด-19” ตามนโยบายของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือซีพี โดยนายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือซีพี ขานรับนโยบายเดินหน้าดำเนินภารกิจอย่างเต็มกำลัง โดยมีผู้แทนเครือซีพี นายวรวิทย์ เจนธนากุล กรรมการบริหาร และรองกรรมการผู้จัดการบริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ มอบทุนจำนวน 6.5 ล้านบาท ให้แก่ให้รงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อจัดสร้างหอผู้ป่วยส่วนขยายกึ่งวิกฤตแพทยพัฒน์ (Field Cohort Ward) อย่างเร่งด่วน ในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการขั้นกึ่งวิกฤต (สีเหลือง) ซึ่งไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จนถึงขั้นวิกฤต หรือ ไอซียู (สีแดง) ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นภารกิจเพื่อชาติในการสนับสนุนงานด้านสาธารณสุขไทย ลดปัญหาเตียงขาดแคลน พร้อมร่วมเคียงข้างคนไทยก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ โดยมี ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการรโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ศ.ดร.เสริชย์ โชติพานิช รองผู้อำนวยการ ฝ่ายกายภาพ และศาสตราธิคุณ นพ.วสันต์ อุทัยเฉลิม อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ เป็นผู้รับมอบทุน ณ ศาลาทินทัต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
นายวรวิทย์ เจนธนากุล กรรมการบริหาร และรองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ที่มีอัตราผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดวิกฤตเตียงขาดแคลนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่สีแดงเข้มในการรองรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เครือฯ ในฐานะเอกชนไทยที่ยึดมั่นในค่านิยม 3 ประโยชน์ ในการทำประโยชน์ต่อประเทศชาติ ต่อสังคมเป็นสำคัญ จึงมีความมุ่งมั่นทำภารกิจเพื่อชาติภายใต้โครงการ “ซีพีร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด-19” ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจซีพีร้อยเรียงความดี ร่วมสนับสนุนทุนสร้างหอผู้ป่วยส่วนขยายกึ่งวิกฤตแพทยพัฒน์ จำนวน 1 หลัง มูลค่า 6.5 ล้านบาท สำหรับรองรับผู้ป่วยที่มีอาการกึ่งวิกฤตและเข้าขั้นวิกฤตได้ประมาณ 12-18 เตียง เครือฯ มีความห่วงใยต่อการปฏิบัติงานของแพทย์และพยาบาลในการเร่งรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยหอผู้ป่วยที่มีระบบความปลอดภัยจะทำให้ช่วยชีวิตผู้ป่วยโควิด-19 ได้ทันท่วงที ทั้งนี้ เครือฯ ได้ร่วมสนับสนุนอาหาร น้ำดื่ม และระบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพให้แก่โรงพยาบาลในหลายพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง และยังคงเดินหน้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนระบบสาธารณสุขของประเทศไทย พร้อมอยู่เคียงข้างคนไทยในการต่อสู้ภัยโควิด-19 ครั้งนี้ไปด้วยกัน
“ในช่วงที่ประเทศต้องเผชิญกับภาวะยากลำบากนี้ เครือฯ มีความยินดีในการสนับสนุนทุนสร้างหอผู้ป่วยส่วนขยายกึ่งวิกฤตแพทยพัฒน์ และขอขอบคุณแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่เสียสละทุ่มเทปฏิบัติหน้าที่เป็นด่านหน้ารับมือสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 และขอเป็นกำลังใจแก่ผู้ป่วยติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาตัวทุกคนให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้ เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง” นายวรวิทย์ กล่าว
ด้าน ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกปัจจุบันทวีความรุนแรงและมีอาการเชื้อลงปอดเข้าขั้นรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิดที่อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลจุฬาฯ กว่า 700 ราย แบ่งเป็นภายในโรงพยาบาลจำนวน 300 ราย และในการดูแลที่ Hospitel จำนวน 400 ราย และพบว่ามีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาเร่งด่วนในห้องฉุกเฉินแต่ยังต้องรอเตียง เนื่องจากเตียงไม่พออีกวันละ 20-30 ราย จึงจำเป็นต้องจัดหาสถานที่เพื่อทำเป็นหอพักผู้ป่วยสนาม ขยายการรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่จำเป็นต้องใช้ห้องไอซียูอย่างเร่งด่วน โดยใช้สถานที่ลานจอดรถหน้าอาคารแพทยพัฒน์ จัดตั้งเป็นอาคารกึ่งสำเร็จรูป หอผู้ป่วยส่วนขยายกึ่งวิกฤตแพทยพัฒน์ ในการรองรับผู้ป่วยที่มีอาการขั้นกึ่งวิกฤตสีเหลืองและที่มีอาการรุนแรงเข้าขั้นวิกฤตสีแดงในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งภายในหอผู้ป่วยจะมีการติดตั้งความดันอากาศเป็นลบพร้อมตัวกรองอากาศชนิด HEPA filter ซึ่งจะสามารถดูดและกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการแยกห้องทำงานแพทย์และพยาบาล ห้องเปลี่ยนชุด PPE และมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่สำคัญในการช่วยชีวิต ทั้งเครื่องออกซิเจน เครื่องช่วยหายใจ นอกจากนี้จะมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดและติดตามสภาพผู้ป่วย ระบบ IT และระบบการสื่อสารในอาคาร เพื่อไว้สังเกตอาการ สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างทันท่วงที
“สถานการณ์การรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงพยาบาลเขตกรุงเทพและปริมณฑลเต็ม 100% จนทำให้ต้องกระจายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลตามต่างจังหวัด ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันนำพาประเทศพ้นวิกฤตครั้งนี้ ขอบคุณการสนับสนุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ภาคเอกชนที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนทุนในการเร่งสร้างหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤต เพื่อแก้ปัญหาเตียงขาดแคลนได้อย่างรวดเร็วและทำให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น ช่วยให้การปฏิบัติงานของแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกคนมีกำลังใจทำงานได้เต็มศักยภาพ และหวังว่าจะลดอัตราการเสียชีวิตของคนไทยให้ได้โดยเร็วที่สุด เพราะฉะนั้นหากจะหยุดการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ต้องขอความร่วมมือคนไทยทุกคนป้องกันตัวเองการ์ดอย่าตก ใส่แมสก์ตลอดเวลา หากไม่จำเป็นไม่ควรออกจากบ้าน และสิ่งสำคัญขอให้คนไทยทุกคนไปรับการฉีดวัคซีนเป็นการติดอาวุธป้องกันตัวเราเอง ป้องกันคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงานและประเทศชาติ” ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าว
สำหรับหอผู้ป่วยส่วนขยายกึ่งวิกฤตแพทยพัฒน์ มีเป้าหมายในการสร้างอาคารเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 5 หลัง โดยใช้งบประมาณหลังละ 6.5 ล้านบาท (ไม่รวมอุปกรณ์ทางการแพทย์) ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยแบบกึ่งวิกฤตได้ประมาณ 12-18 เตียงต่อหลังและรองรับผู้ป่วยวิกฤตได้ 10-12 เตียง โดยการจัดสร้างหอผู้ป่วยฯ ครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ และธนาคารไทยพาณิชย์ ในการสนับสนุนการสร้างหอผู้ป่วยสนามกึ่งวิกฤตฯ ซึ่งมีกำหนดสร้างเสร็จภายในวันที่ 12 สิงหาคมนี้