กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยภาพรวมข้อมูลสายพันธุ์โควิด พบผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์อินเดียภายใน 1 สัปดาห์ ติดเชื้อ 459 ราย คาดการณ์ไม่เกิน 2-3 เดือน อาจเข้ามาแทนสายพันธุ์อังกฤษ ด้าน กทม.ติดโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ 1 ราย โยงรับเชื้อจากลูกที่เดินทางจากนราธิวาส
.............................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิดในประเทศไทย ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ประเทศไทย มีข้อมูลเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่เข้มแข็ง และสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อการควบคุมป้องกันโรค การรักษา และการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ ในประเทศได้
จากข้อมูลการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ล่าสุด ระหว่างวันที่ 21-27 มิ.ย. 2564 สายพันธุ์เดลตาจากเดิม 661 ราย พบเพิ่มอีก 459 ราย ในเขตสุขภาพที่ 1, 2, 3, 4, 6, 7, 8, 12 และมากที่สุดในเขตสุขภาพที่ 13 กทม. สายพันธุ์เบตา จากเดิม 38 ราย พบเพิ่มอีก 89 ราย โดยพบในเขตสุขภาพที่ 11 สุราษฎร์ธานี 1 ราย และเขตสุขภาพที่ 12 พัทลุง 1 ราย ยะลา 2 ราย นราธิวาส 84 ราย และเขตสุขภาพที่ 13 กทม. 1 ราย ซึ่งทั้ง 89 รายได้รับการรักษาและติดตามผู้สัมผัส เพื่อควบคุมโรคแล้ว
สำหรับผู้ป่วยที่ กทม. 1 ราย เป็นผู้ป่วยที่ไม่ได้ติดเชื้อในชุมชนจาก กทม. แต่ติดเชื้อจากลูกที่เดินทางจากจังหวัดนราธิวาสมาเยี่ยมพ่อแม่ โดยที่ลูกไม่มีอาการป่วย พอลูกเดินทางกลับรู้สึกไม่สบายจึงไปตรวจพบติดเชื้อสายพันธุ์เบตา ต่อมาได้ตรวจผู้เป็นพ่อในกรุงเทพพบว่าติดเชื้อสายพันธุ์เบตา ขณะนี้ทั้งลูกและพ่ออยู่ในการดูแลเรียบร้อยแล้ว ส่วนญาติอีก 2 คน ติดเชื้ออยู่ระหว่างการตรวจสายพันธุ์ ส่วนเพื่อนร่วมงานตรวจแล้วไม่พบเชื้อ
ดังนั้น ยอดการเฝ้าระวังสะสมตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 ถึงวันที่ 27 มิ.ย. 2564 สายพันธุ์อัลฟา อังกฤษ จำนวน 7,859 ราย คิดเป็น 86.31% สายพันธุ์เดลตา อินเดีย จำนวน 1,120 ราย คิดเป็น 12.30% และ สายพันธุ์เบตา แอฟริกาใต้ จำนวน 127 ราย คิดเป็น 1.39% หากดูเฉพาะสัปดาห์สุดท้าย พบว่า สายพันธุ์เดลตา มีในกรุงเทพในสัดส่วน 32.3% และภูมิภาค 7.3% ของสายพันธุ์ทั้งหมด
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเฝ้าระวังในพื้นที่แล้ว และยังคงเฝ้าระวังทุกสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อมูลให้หน่วยงานได้ควบคุมป้องกันโรค รวมถึงใช้ในการวิจัยต่างๆ สำหรับกรณีที่มีประชาชนสงสัยว่าประสิทธิภาพของหน้ากากผ้าสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ หรือไม่นั้น ขอแนะนำว่าหน้ากากผ้าสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ การสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง มาตรการนี้ยังใช้ได้เพียง แต่ต้องทำอย่างเคร่งครัด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage