กรมอนามัยเผยนักเรียนติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากบุคคลในครอบครัว แม้อยู่บ้านก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการคุมโควิด แนะพ่อแม่คุมเข้มสร้างเกราะป้องกัน ช่วยเด็กนักเรียนลดความเสี่ยงในการติด-แพร่กระจายเชื้อจากครอบครัว
..........................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2564 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีการแพร่ระบาด และการติดเชื้อโควิด-19 ภายหลังจากมีการเปิดภาคเรียนเมื่อวันที่ 14 มิถุนายที่ผ่านมาในหลายจังหวัดนั้น จากรายงานในเบื้องต้น พบว่า เด็กนักเรียนที่ติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่ติดจากบุคคลในครอบครัว หากพบว่าพ่อแม่มีความเสี่ยงสูงหรือเป็นผู้แยกกักตัว ต้องอยู่ร่วมกับสมาชิกคนอื่น ๆ ทั้งเด็ก ผู้มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุภายในบ้านต้องสร้างเกราะป้องกัน 3 ด้าน เพื่อลดการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อ ดังนี้ 1) ด้านสาธารณะ ให้หยุดงานไม่ออกไปนอกบ้านหรือที่พักอาศัย ไม่เดินทางไปที่ชุมชนหรือที่สาธารณะอย่างน้อย 14 วัน เลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดบุคคลอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร หากทำไม่ได้หรือมีพื้นที่จำกัด ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและไม่คลุกคลีกับเด็ก ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวและผู้สูงอายุในบ้านโดยเด็ดขาด 2) ด้านอาหาร ต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ ปรุงสุก สะอาด พักผ่อนให้เพียงพอและควรแยกการกินอาหารร่วมกัน ถ้าสั่งอาหารแบบเดลิเวอรีให้จัดเตรียมภาชนะรองรับอาหาร เช่น กล่องหรือโต๊ะแบบพับได้ สวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่อออกมารับอาหาร และให้ยืนห่างจากผู้ขนส่งอาหารอย่างน้อย 1 เมตร ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือหลังการรับอาหารจากคนขนส่งอาหาร และควรจ่ายค่าบริการโดยวิธี E-Payment หรือเตรียมเงินสดให้พอดี เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินทอน 3) ด้านสุขอนามัย ให้สวมหน้ากากตลอดเวลา กรณีการใช้ห้องน้ำ หากเป็นไปได้แยกใช้ห้องน้ำห้องส้วมออกจากผู้อื่น แต่หากไม่สามารถแยกห้องได้ให้ผู้อื่นใช้ห้องน้ำก่อน ส่วนผู้แยกกักตัวใช้เป็นคนสุดท้าย และทำความสะอาดให้เรียบร้อย พร้อมทั้งเปิดประตูหน้าต่างเพื่อให้มีการระบายอากาศที่ดี โดยในแต่ละวันให้รวบรวมขยะหน้ากากอนามัยไว้ในถุง ก่อนทิ้งให้ใส่น้ำยาฟอกขาว 2 ฝา ก่อนใส่ถุงอีกชั้นปิดปากถุงให้สนิท
“ทั้งนี้ ในส่วนสถานศึกษาที่ยังเปิดให้มีการเรียนการสอนขอให้คุมเข้มตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่การจัดการเรียนการสอนภายใต้ความปลอดภัย การตรวจคัดกรอง วัดอุณหภูมิในร่างกายเด็กนักเรียนทุกคนก่อนเข้าเรียน ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน ลดความแออัดในห้องเรียน และประเมินความเสี่ยงผ่านระบบ 'ไทยเซฟไทย' ก่อนออกจากบ้านทุกวัน รวมทั้งให้แต่ละสถานศึกษาพิจารณารูปแบบการเรียนตามความเหมาะสมและความพร้อมของแต่ละโรงเรียน อาทิ รูปแบบออนไซต์คือมาเรียนที่โรงเรียน แต่หากโรงเรียนไหนมีนักเรียนจำนวนมาก อาจจะใช้วิธีสลับวัน หรือสัปดาห์ ผสมผสานกับการเรียนออนไลน์ และออนแอร์ไปด้วย จนกว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลายลงเพื่อความปลอดภัยของครูผู้สอน และตัวนักเรียนเองด้วย กรณีพบนักเรียน ครู หรือบุคคลากรทางการศึกษาติดเชื้อโควิด โรงเรียนต้องเตรียมแผนเผชิญเหตุในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคในสถานศึกษา และต้องรีบแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อดำเนินการตามกระบวนการและรายงานต่อผู้บริหารผู้เกี่ยวข้องต่อไป” นพ.สุวรรณชัยกล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage