กทม.ประกาศสั่งขยายระยะเวลาปิดสถานที่ และใช้บังคับมาตรการควบคุมป้องกันแพร่ระบาดของโรคโควิด จากกำหนดเดิมถึง 9 พ.ค. เป็น 17 พ.ค. 2564 ฝ่าฝืนผิด พ.ร.บ.โรคติดต่อ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
............................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กทม. ลงนามประกาศ กทม. เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 27 ระบุว่า
ตามที่ได้มีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 25 ลงวันที่ 25 เม.ย. 2564 และฉบับที่ 26 ลงวันที่ 30 เม.ย. 2564 นั้น เนื่องจากผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังมีจำนวนสูง คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. จึงมีมติเห็นสมควรดำเนินมาตรการควบคุมที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน สำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 22 ลงวันที่ 29 เม.ย. 2564 ต่อไปอีก เพื่อให้สามารถยุติการระบาดของโรคติดเชื้อโควิดได้โดยเร็ว
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 (1) แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบกับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 20 ลงวันที่ 16 เม.ย. 2564 และฉบับที่ 22 ลงวันที่ 29 เม.ย. 2564 ผู้ว่าฯ กทม. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 12/2564 เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564 จึงมีคำสั่งให้ปิดสถานที่และใช้บังคับมาตรการ ที่ระบุไว้ในประกาศ กทม. เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 25 ลงวันที่ 25 เม.ย.2564 และฉบับที่ 26 ลงวันที่ 30 เม.ย. 2564
จนถึงวันที่ 17 พ.ค. 2564
กรณีประกาศ กทม. เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 25 ขัดหรือแย้งกับ ฉบับที่ 26 ให้บังคับตามฉบับที่ 26
ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 20 วรรคสอง (1) แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage