ที่ประชุมคณะกรรมการ สปสช.เห็นชอบให้ปรับเกณฑ์และแนวทางการจ่ายบริการโควิด จ่ายเงินคุ้มครองผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน รับสูงสุด 4 แสนบาท กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ด้าน ครม.รับทราบใช้งบ 140,369 ล้านบาท ครอบคลุมประชาชนร้อยละ 99.85
................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก รัชดา ธนาดิเรก - รองโฆษกรัฐบาล ระบุว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยมติที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เห็นชอบให้ปรับเกณฑ์และแนวทางการจ่ายบริการโควิด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ใน 3 ด้าน ดังนี้
1.เงินจ่ายเพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีประชาชนไทยทุกคนที่ได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโควิด แบ่งเป็น ตายหรือทุพพลภาพถาวร ไม่เกิน 4 แสนบาท เสียอวัยวะหรือพิการ ไม่เกิน 2.4 แสนบาท และบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง ไม่เกิน 1 แสนบาท โดย สปสช. จะแต่งตั้งกลไกเพื่อให้สามารถจ่ายได้ภายใน 5 วัน หลังยื่นคำร้อง
2.ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับโรคโควิด ได้แก่ การเพิ่มเติมการจ่ายสำหรับบริการฉีดวัคซีนโควิด อัตราครั้งละ 20 บาท
3.เตรียมหลักเกณฑ์แนวทางการจ่าย รองรับกรณีกระทรวงสาธารณสุข ประกาศมาตรฐานบริการดูแลผู้ป่วยโควิดแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation / Home quarantine) รวมถึงผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการพักรักษาที่พักอาศัยภายใต้การดูแลของหน่วยบริการ นอกจากจะจ่ายชดเชยตาม DRG แล้ว ยังจ่ายชดเชยเพิ่มเติมในอัตราไม่เกินวันละ 1,000 บาท รวมอาหาร 3 มื้อ ให้กับหน่วยบริการ และสนับสนุนวัสดุทางการแพทย์ที่จำเป็น 3 อย่าง ได้แก่ เครื่องวัดความดัน ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ให้กับประชาชน โดยใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ วงเงินไม่เกิน 22 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ปรับเพิ่มอัตราจ่ายค่าบริการผู้ป่วยใน กรณีบริการในเขต เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยจะเพิ่มอัตราการจ่ายตาม DRG ใหม่ จาก 8,350 บาทต่อน้ำหนักสัมพัทธ์ เป็น 8,750 บาท ต่อน้ำหนักสัมพัทธ์ ซึ่งจะประมวลผลจ่ายตามผลงานย้อนหลัง ต.ค.2563 - ก.ย. 2564 ใช้งบประมาณเพิ่ม 2,596.13 ล้านบาท
ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. รับทราบรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2563 โดยมีการเบิกจ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับหน่วยบริการจำนวน 140,369.81 ล้านบาท จากงบประมาณ 140,533.42 คิดเป็นร้อยละ 99.88 ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการจำนวน 47.60 ล้านคน จากเป้าหมาย 47.68 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 99.85 มีหน่วยบริการขึ้นทะเบียนจำนวน 12,245 แห่ง
น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า สำหรับผลงานบริการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ได้ให้บริการพื้นฐานในงบเหมาจ่ายรายหัว เช่น บริการสุขภาพทั่วไป โดยในส่วนของการใช้บริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในมีผลงานต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากช่วงเดือน มี.ค.-มิ.ย. 2563 รัฐบาลประกาศมาตรการเว้นระยะทางสังคมจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด ส่วนงานบริการเฉพาะกลุ่ม นอกงบเหมาจ่ายรายหัว เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีผลงานการใช้บริการสูงกว่าเป้าหมาย ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังมีผลงานการใช้บริการต่ำกว่าเป้าหมาย ส่วนความท้าทายในการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่สำคัญ ได้แก่ ผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงจากการระบาดของโควิด และข้อจำกัดด้านงบประมาณในการบริหารจัดการกองทุน หากเศรษฐกิจถดถอยและชะลอตัว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2562 ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยพบว่า มีสินทรัพย์ 18,958.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 3,609.29 หนี้สิน 14,380.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,468.98 ล้านบาท
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage