รอง ผบ.ตร.เผยศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 มีประชาชนติดต่อมาตั้งแต่วันแรก แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ป่วยโควิดต้องการเตียงหรือรถพยาบาล 85 ราย และนำส่งตัวโรงพยาบาลแล้ว 62 ราย รอการส่งตัวอีก 23 ราย และกลุ่มที่โทรเข้ามาปรึกษาหรือสอบถามข้อมูล รวมกว่า 271 สายทั่วประเทศ
..........................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร.เดินทางไปตรวจดูความพร้อมการปฏิบัติงานของศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 (ศูนย์วิทยุผ่านฟ้า บช.น.) พร้อมเปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้ไปตรวจดูการทำงานของเจ้าหน้าที่ ว่าปฏิบัติได้ดีแค่ไหน มีปัญหาอุปสรรคใดๆ หรือไม่อย่างไร ทั้งนี้การประสานงานระหว่างศูนย์ 1668 และ 191 ผ่านระบบฐานข้อมูลกลาง GBDi (Goverment Big Data Institute) สามารถใช้งานได้ดี มีประชาชนโทรเข้ามาตั้งแต่วันแรกที่เปิดศูนย์ ณ ขณะนี้กว่า 271 สาย ทั่วประเทศ โดยพบว่าผู้ที่โทรเข้ามาจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ เป็นผู้ป่วยโควิดต้องการเตียงหรือรถพยาบาล กับอีกกลุ่มคือโทรเข้ามาปรึกษาหรือสอบถามข้อมูล
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า กรณีผู้ป่วยโควิดต้องการเตียงหรือรถพยาบาล เจ้าหน้าที่จะสอบถามข้อมูลเบื้องต้น เช่น ชื่อ นามสกุล อาการ ที่อยู่ จากนั้นจะกรอกข้อมูลลงในระบบ GBDi เพื่อส่งต่อข้อมูลไปยังศูนย์ 1668 เพื่อจัดหาเตียงให้ผู้ป่วย แต่หากอาการรุนแรง ก็จะใช้วิทยุสื่อสารแจ้งไปยังศูนย์เอราวัณ 1669 หรือหากเป็นในต่างจังหวัด จะใช้การประสานไปยัง สสจ. หรือ สสอ. โดยตรง เพื่อให้จัดส่งรถฉุกเฉินมารับตัวไปส่งโรงพยาบาลทันที นับตั้งแต่ 28 เม.ย.64 ถึงปัจจุบัน มีแจ้งขอเตียงมาแล้ว 85 ราย และสามารถส่งตัวไปยังโรงพยาบาลแล้ว 62 ติดต่อแล้ว รอการส่งตัว 23 ราย โดยจะติดตามจนกว่าจะส่งตัวครบหมดทุกราย
ส่วนกลุ่มที่โทร ขอคำแนะนำในการปฏิบัติตัว ปัจจุบันมีจำนวน 186 สาย เช่น ถามว่า กรณีผลตรวจยังไม่ออก พนักงานที่ทำงานเดียวกันต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง หากไม่ได้ work from home หากต้องการติดต่อให้มาฉีดพ่นฆ่าเชื้อต้องติดต่อหน่วยงานใด หากพบว่ามีการติดเชื้อจริง แล้วต้องไปนอน รพ.สนาม สามารถเลือกสถานที่ได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่ก็จะมีคำตอบที่ได้รับคำแนะนำจากกรมการแพทย์ และกรมควบคุมโรคไว้คอยแนะนำให้ รวมถึงแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้แจ้ง
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ผู้ป่วยที่หลีกเลี่ยงไม่ยอมเข้ารับการรักษาหรือกักตัว และหลบเลี่ยงการติดต่อจากแพทย์ ร้องขอให้ตำรวจช่วยติดตามตัวให้ ขณะนี้มี 3 ราย ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเชิญตัวไปเข้ารับการรักษาแล้ว 2 ราย และสั่งให้กักตัว 1 ราย ส่วนรถรับส่งผู้ป่วย จำนวน 5 คันที่นำไปสนับสนุน ศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้าย ศปม. ในเขต กทม. ขณะนี้ใช้รับส่งผู้ป่วยแล้ว 8 ราย โดยนำส่ง รพ.สนามฟุตบอลเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา 6 ราย และ รพ.สนามบางกอกอารีน่า เขตหนองจอก อีก 2 ราย เชื่อว่าภาพรวมจะสามารถปฏิบัติภารกิจได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กรออกมาขับเคลื่อนเพื่อช่วยเหลือประชาชนผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage